ทำไม Enron ล้มละลาย
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
เริ่มต้นด้วยความหยิ่งยโส แล้วตามด้วยความโลภ เสริมด้วยการหลอกลวง และสนับสนุนด้วยเล่ห์อุบายทางการเงิน ผลที่ได้คือ การล่มสลายของบริษัท หนึ่ง ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งยุคเศรษฐกิจใหม่ นี่คือบทสรุปของนิตยสารชื่อดังอย่าง Fortune ที่มีต่อ Enron
การตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการล้มละลายของ Enron เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดไปทั่วโลก แทบไม่น่าเชื่อว่า บริษัทซึ่งเคยได้ชื่อว่า เป็นซูเปอร์สตาร์ของยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจ ใหม่ ที่ใช้เวลาเพียง 10 กว่าปีในการสร้างเนื้อสร้างตัว จนทะยานขึ้นเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับโลก กลับ ล่มสลายลงในชั่วพริบตาเดียว และจนถึงวันนี้ยังไม่มีใคร สามารถเข้าใจได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับ Enron กันแน่
Jeff Skilling อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Enron เคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Fortune เมื่อต้นปีที่แล้ว (2001) ว่า ธุรกิจของเขาไม่ใช่ "กล่องดำ" ของเครื่องบิน ที่ต้องมาไขปริศนากัน แต่เป็นเพียงธุรกิจ ที่ง่ายๆ และชัดเจน ที่ใครๆ ก็เอาอย่างได้ ดังนั้น ใครก็ตามที่แสดง ความคลางแคลงในธุรกิจของ Enron จึงเป็นคนที่ไม่เคยรู้จัก Enron อย่างแท้จริง
"เรามีคำตอบที่ชัดเจนให้เสมอ แต่คนก็ยังอยากจะขว้าง ก้อนอิฐเข้าใส่เรา" ในขณะนั้น มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดของ Enron อยู่ที่ประมาณ 60 พันล้านดอลลาร์ หรือต่ำกว่าระดับราคาสูงสุด ตลอดกาลของตัวเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสถานภาพการเป็น "ลูกรัก" ของนักลงทุนใน Wall Street ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะอับแสง จนหมดราคาอย่างทุกวันนี้
ในช่วงเวลานั้น นักเขียนของ Fortune กำลังเขียนบทความ เกี่ยวกับ Enron แต่พบว่า งบการเงินของ Enron ซับซ้อนจนอ่าน แทบไม่เข้าใจเลย นักเขียนผู้นั้นจึงโทรศัพท์ไปที่ Enron แต่คำตอบ ที่ได้รับคือ ท่าทีไม่พอใจของซีอีโอ Skilling ซึ่งกล่าวว่า ถ้อยคำที่ นักเขียนของ Fortune ใช้ในการถามนั้น "ไร้จริยธรรม" และวางหู โทรศัพท์ทันที แต่หลังจากนั้นเพียงครู่เดียว Mark Palmer โฆษก ของ Enron ก็ได้โทรกลับมาและขอมาพบกับนักเขียนผู้นั้นที่สำนัก งานของ Fortune ด้วยตัวเอง พร้อมด้วย Andy Fastow ประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Enron โดย Palmer ให้เหตุผลในการ ขอพบว่า เพื่อที่จะได้ตอบข้อข้องใจทุกอย่างของนักเขียนผู้นั้นได้ อย่าง "ครบถ้วนและถูกต้อง"
แต่มาถึงขณะนี้ ในขณะที่ Enron กำลังช็อกโลกด้วยการ ล่มสลายอย่างไม่มีใครคาดฝัน ดูเหมือนว่า Enron ถูก "ขว้างก้อน อิฐ" น้อยเกินไป และในขณะที่โลกกำลังร่ำร้องขอ "คำตอบที่ชัด เจน" ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Enron กันแน่ แต่ Skilling ผู้กำลังหลบหน้า นักข่าวอย่างอุตลุดตามคำแนะนำของทนายส่วนตัว กลับไม่อยู่ให้ "คำตอบที่ชัดเจน" เสียแล้ว (Skilling ลาออกในเดือนสิงหาคมปีที่ แล้ว)
ส่วนที่บอกว่าจะตอบคำถามทุกคำถามอย่าง "ครบถ้วนและถูกต้อง" นั้น หลายคนบอกว่า เหล่าผู้นำระดับสูงของ Enron เคย เข้าใจความหมายของคำ 2 คำนี้ด้วยหรือ "วิธีที่ดีที่สุดที่จะซ่อนไม้ ท่อนหนึ่งไม่ให้ใครหาเจอก็คือ ซ่อนมันไว้ในป่า" John Dingell สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตจากรัฐมิชิแกนกล่าวถึง ลักษณะของงบการเงินของ Enron เขากำลังเรียกร้องให้สภาคอง เกรส สหรัฐฯ สอบสวน Enron "สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่นี้คือ รายงาน ทางการเงินที่ซับซ้อนที่สุด พวกเขาไม่จำเป็นต้องโกหกเลย เพียง แค่ทำให้เรางงด้วยการทำงบการเงินที่อ่านยังไงก็ไม่มีวันเข้าใจ"
ถ้าเป็นเมื่อก่อน Enron จะต้องเถียงอย่างหัวชนฝาว่า ธุรกิจ หรืองบการเงินของตนนั้นไม่ได้ซับซ้อนเลยสักนิดเดียว และไม่เคยคิด ที่จะปิดบังความรู้สึกดูแคลนคนที่อ่านงบการเงินของตนไม่เข้าใจว่า เป็นความผิดของคนคนนั้นต่างหากที่ไม่มีความสามารถพอที่จะเข้าใจ ธุรกิจหรืองบการเงินของ Enron
นักวิเคราะห์ Wall Street หลายคนรวมทั้ง David Fleisher แห่ง Goldman Sachs ยอมรับว่า ไม่ว่า Enron จะพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่อง การเงินของตัวเอง ก็จำเป็นต้องเชื่อเอาไว้ก่อน แน่นอน เมื่อก่อนนี้ ทุกคนไม่มีปัญหากับการเชื่อคำพูดของ Enron ตราบใดที่ Enron ยัง คงให้ในสิ่งที่ Wall Street แคร์มากที่สุด นั่นคือ รายได้ที่เติบโตอย่าง สม่ำเสมอ แต่มาถึงขณะนี้ ซึ่งการณ์ก็ปรากฏชัดแล้วว่า รายได้อัน งดงามเหล่านั้นหาได้สวยหรูอย่างที่เคยเข้าใจกันไม่ ใครๆ จึงพากัน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจของ Enron ซับซ้อนอย่างเหลือเชื่อ และอาจจะซับซ้อนมากเสียจนแม้แต่ Ken Lay อดีตผู้ก่อตั้ง Enron เอง ก็ ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ (Lay เคยพูดเป็นนัยๆ ในทำนองนี้เอง เมื่อ ครั้งกลับมารับตำแหน่งซีอีโอคืนจาก Skilling)
ดังนั้น สิ่งที่ไม่เคยเป็นปัญหา จึงได้กลับกลายเป็นปัญหาขึ้น มาเสียแล้ว และทำให้สงสัยกันว่า ทำไม จึงมีคนมากมายที่เต็มใจจะเชื่อข้อมูลการเงินที่มีน้อยคนสามารถจะเข้าใจมันจริงๆ
ยังมีคำถามอื่นๆ ตามมาอีกมากมายหลังจาก Enron ล่มสลาย ซึ่งล้วนแต่ยังหาคำตอบไม่ได้ แม้กระทั่งในขณะนี้ที่บรรดาเจ้าหนี้ กำลังรุมทึ้งซากที่เหลือแต่โครงกระดูกของ Enron อยู่ ด้าน Enron ก็ใช่ จะยอมรับชะตากรรมง่ายๆ แต่กำลังดิ้นรนสุดฤทธิ์ ที่จะหาผู้สนับสนุน ทางการเงินรายใหม่ เพื่อฟื้นธุรกิจค้าหลักทรัพย์ของตนขึ้นมาใหม่ให้ ได้ ประชาชนก็ยังคงไม่เข้าใจอยู่ดีว่า เกิดอะไรขึ้น ใน Enron กันแน่ ไม่แม้แต่พนักงานของ Enron ซึ่ง บัดนี้ยังคงอยู่ในสภาพช็อกไม่หาย ที่อยู่ๆ บริษัท ที่ตัวเองกำลังทำงานอยู่ดีๆ ก็ล้มครืนลงมาอย่าง ไม่มีปี่มีขลุ่ย
หลายคนถามว่า สาเหตุการล่มสลายของ Enron เกิดจากวิกฤติศรัทธาเท่านั้นใช่หรือไม่ โดยที่จริงๆ แล้วบริษัทยังคงแข็งแกร่งอยู่ หรือว่า การจัดทำงบการเงินอย่างไม่โปร่งใส ซึ่งรวมถึง การไม่นำธุรกิจที่บริหารโดยผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท มาบันทึกลงในงบดุล อันเป็นที่มาของ การเกิดวิกฤติศรัทธาดังกล่าว จะเป็นวิธีที่ Enron ใช้ปกปิดประเด็นที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่า นั่นคือ การพยายามรักษาระดับราคาหุ้นของ Enron ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ และมีคำถามหนึ่งที่ทุกคนทั้งนอกและใน Enron อาจจะอยากรู้มากที่สุด ในตอนนี้ก็คือ เมื่อพิจารณาถึงความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายแหล่ ที่เกิดขึ้นกับการจัดทำงบการเงินของ Enron แล้ว จะทำให้ใคร ต้องเดินเข้าคุกบ้างหรือไม่
ผู้อหังการ
"หยิ่งยโส" คือคำที่ทุกคนใช้เมื่อพูดถึง Enron ภายในบริษัท แห่งนี้มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า บริษัทคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้ง ในยุคเศรษฐกิจเก่า (old economy) ไม่มีทางที่จะมาสู้รบปรบมือ กับบริษัทในยุคเศรษฐกิจใหม่ (new economy) อย่างตนได้ "ยักษ์ ใหญ่พวกนั้นจะล้มคว่ำไปเองเพราะความเทอะทะอุ้ยอ้ายของตัว เอง" Skilling กล่าวเมื่อปีที่แล้ว เขาหมายถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุค เศรษฐกิจเก่าอย่าง Exxon Mobil
ช่วงฤดูหนาวของปีกลาย Skilling พยายามพูดต่างกรรมต่าง วาระว่า หุ้นของ Enron ซึ่งขณะนั้นมีราคาประมาณ 80 ดอลลาร์ ต่อหุ้น ควรจะมีราคาสูงกว่านั้นคือควรจะขายที่ 126 ดอลลาร์ต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน Enron จะมีดีพอที่จะแสดงความอหังการ ได้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Enron ซึ่งเป็นบริษัทที่ Ken Lay มีส่วน ร่วมในการก่อตั้งในปี 1985 จากการรวมกิจการบริษัทท่อก๊าซ 2 แห่ง นับเป็นบริษัทที่บุกเบิกการค้าก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าในยุค เศรษฐกิจใหม่ตัวจริง
Enron เป็นผู้สร้างตลาดใหม่ๆ สำหรับการค้า สิ่งที่เรียกว่า เป็น "ตราสารสัญญาซื้อขายล่วงหน้า" (weather futures) เพียงเวลา 6 ปีนับแต่ก่อตั้ง Enron ก็ได้รับการโหวตให้เป็น บริษัทที่มีนวัตกรรมดีเด่นที่สุด (Most Innovative) ในบรรดาบริษัทที่ได้รับความนิยมยกย่องที่สุดจาก การจัดอันดับของ Fortune (Fortune's Most Admired Companies) Enron ภายใต้การกุมบังเหียนของ Skilling ผู้เข้าร่วมกับบริษัทตั้งแต่ปี 1990 โดยก้าวมาจาก บริษัทที่ปรึกษา McKinsey (เขาขึ้นเป็นซีอีโอสืบต่อ จาก Lay ในเดือนกุมภาพันธ์ 2001) ดำเนินธุรกิจด้วย ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า บริษัทสามารถจะขาย และทำเงินจากทุกอย่างที่ขวางหน้าได้ ตั้งแต่อิเล็ก ตรอนถึงพื้นที่โฆษณา
ในช่วงสิ้นสุดทศวรรษ 1990 Enron ซึ่งเคย สร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่มีตัวตนจับต้องได้อย่าง ท่อก๊าซ กลับมีรายได้มากกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดจากธุรกิจที่ เข้าใจยากอย่าง "การดำเนินการและการบริการด้านพลังงานแก่ลูกค้า รายใหญ่" (wholesale energy operations and services) ตั้งแต่ปี 1998-2000 รายได้ของ Enron พุ่งทะยานขึ้นจาก 31 พันล้านดอลลาร์ เป็น 100 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ในการจัดอันดับ บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก Fortune 500 ช่วงต้นปี 2000
เมื่อเทคโนโลยี broadband กำลังกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า ตลาดหลายพันล้านดอลลาร์ Enron ก็ประกาศแผนที่จะค้าเทคโนโลยี ที่เป็นสุดยอดของยุคนี้กับเขาด้วย จากความหยิ่งผยอง ตามมาด้วย ความโลภ แผนการจ่ายค่าตอบแทนและผลประโยชน์ต่างๆ ของ Enron ดูเหมือนมุ่งจะทำให้ผู้บริหารร่ำรวยขึ้น มากกว่ามุ่งจะสร้างกำไรแก่ ผู้ถือหุ้น ยกตัวอย่างในธุรกิจการให้บริการพลังงานของ Enron ซึ่งรับ ผิดชอบบริหารความต้องการพลังงานของบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Eli Lilly ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้บริหารของธุรกิจดังกล่าวได้ รับ คิดคำนวณจากสูตรการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด โดยไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญการประเมินราคาทรัพย์สินจากภายนอก อดีต ผู้บริหารคนหนึ่งของธุรกิจดังกล่าวของ Enron ชี้ว่า ผลที่เกิดขึ้นจาก การกระทำเช่นนั้นก็คือ แรงกดดันให้มีการประเมินมูลค่าของตราสาร สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สูงเกินจริง ถึงแม้ว่าราคาที่สูงเกินไปนั้นจะไม่ได้ทำให้เหล่าผู้บริหารได้รับเงินสดเป็นจำนวนมากขึ้นจริงๆ ก็ตาม
การที่ Enron เชื่อมั่นว่า ตนเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำการปฏิวัติ ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการส่งเสริมการไม่ทำตามกฎเกณฑ์ จึงเกิดเสียง ซุบซิบนินทาอยู่เนืองๆ ว่า บรรดาผู้บริหารของบริษัทชอบแหกกฎ จนเคยชินและลุกลามไปถึงชีวิตส่วนตัวด้วย ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว ของผู้บริหารระดับสูงบางคนกลายเป็นเรื่องปิดกันให้แซด Enron ยังถูกนินทาว่า เป็นบริษัทที่ "โหด" กับพนักงานมาก
Skilling มีชื่อเสียงในการคิดระบบการประเมินคุณภาพพนัก งานด้วยการจัดอันดับ พนักงานที่ถูกจัดอันดับรั้งท้าย 20% จะต้องออกจากบริษัทไป พนักงานของที่นี่จึงชิงดีชิงเด่นกันตลอด เวลา เพื่อไม่ให้ต้องถูกจัดอยู่ในอันดับ บ๊วย นอกจากนี้ พนักงานคนไหนที่ บอกว่า บริษัทกำลังมีปัญหาอาจถูก มองว่าเป็นการให้ข่าวร้าย ซึ่งจะส่งผล เสียหายให้บริษัท และอาจตกงานได้ ง่ายๆ ดังนั้น บรรดาพนักงานของที่นี่ จึงปิดปากเงียบแล้วกวาดปัญหาเข้า ไว้ใต้พรม อดีตพนักงานคนหนึ่งของ Enron เล่าว่า การหลอกตัวเองว่าบริษัท ไม่มีปัญหาแบบนี้ มีมากเป็นพิเศษใน ธุรกิจค้าหลักทรัพย์ของบริษัท "พนัก งานพากันเชื่อมั่นอย่างจริงๆ จังๆ ว่า จะไม่มีวันมีอะไรที่ผิดพลาด เกิดขึ้นในบริษัทอย่างแน่นอน ซึ่งทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจมาก จริงๆ"
ความลับของ Enron
"เราไม่ใช่บริษัทค้าหลักทรัพย์" Fastow กล่าวเมื่อคราวมา เยือน Fortune ในเดือนกุมภาพันธ์ปีกลาย "เราไม่ได้ทำธุรกิจที่มี รายได้จากการเก็งกำไร" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Enron กล่าวต่อไปพร้อมกับชี้ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา Enron มีรายได้เพิ่ม ขึ้นติดต่อกันถึง 20 ไตรมาส "ถ้าเราเป็นบริษัทค้าหลักทรัพย์ มี หรือจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอแบบนี้"
อย่างไรก็ตาม เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาใครนอก บริษัท Enron ที่เห็นด้วยกับ Fastow "พวกเขาไม่ใช่บริษัทพลังงาน ที่ทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของ บริษัท แต่พวกเขาเป็นบริษัทที่เอาจริงเอาจังกับการค้าหลักทรัพย์ อย่างมาก" Austin Ramzy ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Principal Capital Income Investors กล่าวและบริษัทคู่แข่งรายหนึ่งของ Enron ก็เห็นด้วย
ความจริงแล้ว Enron มีชื่อเสียงในการชอบทำอะไรที่เสี่ยงๆ มากกว่าบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะการค้าตราสารสัญญาระยะยาว ซึ่งมีสภาพคล่องน้อยกว่าตราสารประเภทอื่นๆ มาก นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันดีว่า ในบรรดาบริษัทที่ไม่ใช่วาณิชธนกิจแล้ว Enron เป็น บริษัทที่เอาจริงเอาจังมากที่สุดบริษัทหนึ่ง ในการทำธุรกรรมซื้อขาย เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนเข้าใจยากอย่าง credit derivatives เหตุที่ Enron ไม่ต้องการให้ความเอาจริงเอาจังอย่างมากในการทำธุรกิจค้า หลักทรัพย์ของตนเป็นที่เปิดเผยเลื่องลือไป มีคำอธิบายที่ชัดเจนคือ ความกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับราคา หุ้นของบริษัทนั่นเอง
การเป็นบริษัทค้าหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีลักษณะของรายได้ที่ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ย่อมกระทบกับการประเมินมูลค่าหุ้นของ บริษัท ลองดู Goldman Sachs เป็นตัว อย่าง Goldman Sachs เป็นบริษัทค้า หลักทรัพย์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ ราคาหุ้นของบริษัทก็แทบไม่เคยขายได้ มากกว่า 20 เท่าของรายได้ เทียบกับราคา หุ้นของ Enron ที่เคยทวีคูณสูงสุดถึง 70 เท่าหรือมากกว่า คุณจะไม่มีวันได้ยินฝ่ายบริหารของ Goldman คาด การณ์รายได้ของปีหน้าเป็นตัวเลขที่แน่นอน ในขณะที่ฝ่ายบริหาร ของ Enron สามารถทำนายรายได้ของตนอย่างมั่นใจเป็นตัวเลขที่ ละเอียดเกือบจะถึงหน่วยเพนนีเลยทีเดียว
มูลค่าหุ้นของ Enron จะสามารถรักษาระดับราคาที่สูงไว้ได้ ก็ต่อเมื่อ Enron สามารถจะทำรายได้ได้ตามที่ตนได้คาดการณ์ไว้ เพราะนักลงทุนก็เช่นเดียวกับฝ่ายบริหารของ Enron สิ่งที่พวกเขา แคร์ที่สุดก็คือราคาหุ้นเท่านั้น ตราบใดที่ Enron สามารถทำรายได้ถึง ระดับที่ได้สัญญาไว้ (รวมถึงชอบแสดงวิสัยทัศน์กว้างไกลอย่างเช่น แผนการทำธุรกิจ broadband) ตราบนั้น ราคาหุ้นของ Enron ก็ย่อมจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
กำไรหายไปไหน
Jim Chanos ผู้บริหารบริษัท Kynikos Associates ซึ่งเป็นบริษัท ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในความเชี่ยวชาญด้านการทำ short-sell เป็นคนแรกที่พูดถึงความไม่ชอบมาพากลของงบการเงินของ Enron ตั้งแต่ต้นปี 2001 ว่า ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่า Enron สร้างรายได้ ได้ด้วยวิธีใด ใช่แต่เท่านั้น Chanos ยังเป็นผู้ที่ชี้ว่า Enron ไม่ได้มี รายได้มากมหาศาลอย่างที่ใครๆ เข้าใจ กำไรจากการดำเนินงาน (operating margin) ของ Enron ลดลงจากราว 5% เมื่อต้นปี 2000 เหลือเพียงต่ำกว่า 2% เมื่อต้นปี 2001 และผลตอบแทนการลงทุน (return on invested capital) ทรงตัวอยู่แค่เพียง 7% เท่านั้น นี่ยังไม่ได้ รวมหนี้นอกงบดุลของ Enron เข้ามาคิดด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นที่เปิดเผยใน เวลาต่อมาว่ามีจำนวนมหาศาล
Chanos ผู้นี้ยังเปิดโปง Enron ต่อไปว่า Skilling ยังได้เทขาย หุ้นของ Enron ซึ่งไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้ที่เคยแสดงความเชื่อ มั่นว่า หุ้นราคา 80 ดอลลาร์ของตนควรจะมีมูลค่าแท้จริงที่ 126 ดอลลาร์ ไม่เพียง Enron จะไม่กำไรอย่างที่คิด แต่กระแสเงินสดจาก การดำเนินงานของบริษัทยังดูเหมือนจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับรายได้ ที่ได้รายงานไว้ในบัญชีเลย ทั้งนี้เพราะบริษัทใช้วิธีบันทึกบัญชีส่วน ใหญ่ของตนแบบ "mark to market" กล่าวคือ ใช้วิธีประเมินมูลค่า เฉลี่ยของตราสารสัญญาแล้วบันทึกเป็นรายได้ลงในงบกำไรขาดทุน จึงทำให้รายได้ที่ปรากฏในบัญชีไม่ตรงกับจำนวนเงินสดที่บริษัท มีอยู่จริง ความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่วิธีการลงบัญชี ถ้าจะไม่เป็น เพราะการดำเนินธุรกิจของ Enron ดูจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากหนี้สินที่ปรากฏในงบดุลของบริษัท พุ่งสูงขึ้นจาก 3.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 1996 เป็น 13 พันล้านดอลลาร์ ในงบดุลล่าสุด Skilling และ Fastow อธิบายเรื่องผลตอบแทนการ ลงทุนที่ต่ำของ Enron อย่างง่ายๆ ว่า เป็นเพราะมี "ปัจจัยที่บิดเบือน" อยู่
Fastow กล่าวว่า Enron ได้ลงทุนขนาดใหญ่ในท่อก๊าซและโรงงานในต่างประเทศตั้งแต่อินเดียถึงบราซิล ส่วน Skilling บอกกับ นักวิเคราะห์ว่า Enron กำลังสลัดทิ้งสิน ทรัพย์เก่าๆ ที่ทำรายได้ไม่เข้าเป้าโดยเร็ว ที่สุด และยืนยันว่า ธุรกิจใหม่ๆ ของ Enron จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามากๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครภายนอก บริษัท Enron (รวมทั้งน้อยคนใน Enron) ที่สามารถวัดขีดความสามารถในการทำ กำไรที่แท้จริง หรือถ้าจะพูดให้ตรงประเด็นกว่านั้นคือ ความสามารถในการทำ กำไร "อย่างสม่ำเสมอ" ของธุรกิจค้า หลักทรัพย์ของ Enron ได้ อดีตพนักงาน คนหนึ่งของ Enron บอกว่า Skilling และบรรดาคนสนิทของเขาปฏิเสธ ที่จะชี้แจงรายละเอียดว่า ธุรกิจค้าหลักทรัพย์ของ Enron มีผลตอบ แทนการลงทุนเป็นเท่าไร แต่พยายามที่จะให้ใครๆ ดูแต่รายได้ที่ ปรากฏในบัญชีแทน ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 รายการสินทรัพย์ ของ Enron เต็มไปด้วยหลักทรัพย์จากธุรกิจค้าหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งถูกใส่เข้ามาในการจัดทำงบการเงินเพียงเพื่อประโยชน์ในการ รายงานงบดุลเท่านั้น Chanos อีกเช่นกันที่ตั้งข้อสังเกตว่า Enron กำลังขายหลักทรัพย์เหล่านั้นออกไป และบันทึกกลับลงไปเป็น รายได้อีกครั้ง นอกจากนี้ Enron ยังซื้อหุ้นสามัญของธุรกิจทุก ประเภทที่มีอยู่ในตลาด และลงบัญชีผลตอบแทนที่ได้จากการ ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านั้นลงในส่วนของรายได้ด้วย Chanos ยังเป็นคนแรกที่ค้นพบธุรกิจที่ไม่เป็นที่เปิดเผยของ Enron จาก การที่เขาได้ศึกษาเอกสารต่างๆ ของ Enron อย่างละเอียด ทำให้ เขาพบว่า มีการกล่าวถึงอย่างคลุมเครือหลายครั้งในเอกสารเหล่า นั้น ถึงการทำธุรกรรมระหว่าง Enron กับ "องค์กรที่เกี่ยวข้อง" หลายองค์กร ซึ่งบริหารโดย "เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงคนหนึ่ง ของ Enron" Chanos บอกว่า ถึงแม้จะยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่า "องค์กรที่เกี่ยวข้อง" นั้นหมายถึงอะไร และกำลังทำอะไรอยู่กับ Enron แต่การที่มี "เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ Enron" เป็นผู้บริการองค์กรลึกลับดังกล่าวด้วย แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะ ชี้ว่า อาจจะมีการขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) เกิดขึ้น "เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ Enron" นั้น ต่อมา ก็ปรากฏว่าหาใช่ใครที่ไหน แต่คือ Fastow ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย การเงินของ Enron นั่นเอง ส่วนองค์กรลึกลับนั้นตอนนี้ก็รู้กันแล้ว ว่าคือ LJM partnerships
ลางร้ายจาก Skilling
เมื่อมาถึงกลางเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว ความน่าเชื่อถือของ Enron ก็ เริ่มสั่นคลอนอย่างหนักจนราคาหุ้น ของบริษัทเริ่มตก จากระดับ 80 ดอล ลาร์ เมื่อต้นปีที่แล้วรูดลงมาเหลือ เพียง 40 ดอลลาร์เท่านั้น ตามมาด้วย เหตุการณ์ซึ่งน่าจะเป็นลางร้ายที่ชัด เจนที่สุดที่บ่งชี้ว่า Enron กำลังมีปัญหา หนัก นั่นก็คือ Jeff Skilling ผู้เป็นซีอีโอ ประกาศลาออกท่ามกลางความตกตะลึงไปทั่ว Enron ปฏิเสธว่า การลาออกของ Skilling ไม่ได้หมายความว่า บริษัทกำลังมีปัญหา ใดๆ แต่มาขณะนี้มีหลายคนเชื่อว่า Skilling น่าจะรู้ว่า ราคาหุ้นของ Enron ที่กำลังรูดลงเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อ LJM และทำให้ LJM ไม่เป็นความลับอีกต่อไป จึงชิงลาออกเสียก่อน
แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้การลาออกของ Skilling จะหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ แต่ประชาชนก็ยังคงเชื่อถือถ้อยคำ ของ Enron อย่างยิ่ง เมื่อ Ken Lay กลับเข้ามารับตำแหน่งซีอีโออีกครั้งหนึ่ง เขาก็ยังคงได้รับความเชื่อถืออย่างเปี่ยมล้นจาก Wall Street รวมถึงพนักงานของ Enron ด้วย เมื่อ Lay พูดว่า Enron ไม่มีความไม่ชอบมาพากลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบการเงิน เรื่อง ธุรกิจค้าหลักทรัพย์ หรือความลับใดๆ ทุกคนก็เชื่อเขา Lay สัญญาว่า จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของ Enron ด้วยการปรับปรุงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่ายังไม่เพียงพอ ในขณะที่พูดนั้น Lay ตระหนักหรือไม่ว่า เขากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ หรือเขาเองก็พูดไปโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อะไรเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของ Enron คนส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างหลัง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต่อมา Lay จะได้รับรู้ปัญหาของ Enron แล้ว แต่เขาก็ยังคงเลือกทำตามที่ Enron ถนัด นั่นคือ เลือกที่จะปกปิดมากกว่าที่จะเปิดเผย หลังจากกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวขบวนของ Enron อีกครั้ง Lay ได้จัดแถลงข่าวในวันที่ 16 ตุลาคม ปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะนับว่าเป็นวันเริ่มต้นไปสู่จุดจบของ Enron อย่าง แท้จริง เมื่อการแถลงข่าวดังกล่าว คือการแถลงผลขาดทุนถึง 618 ล้านดอลลาร์ แต่ Lay ก็ยังไม่วายปิดบังข้อเท็จจริงอื่นเอาไว้ตามสไตล์ถนัด โดยเขาไม่ยอมบอกว่า มูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นถืออยู่นั้นได้ลดลงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ด้วย พอมาถึงการเรียกประชุม ผู้ถือหุ้นหลังจากแถลงข่าว Lay ก็ยังคงไม่ยอมแจ้งต่อผู้ถือหุ้นว่า ขณะนั้น Moody กำลังพิจารณาลดคุณภาพหนี้สินของ Enron อยู่ (แม้ Skilling จะเคยกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันว่า หนี้สินนอกงบดุลของ Enron นั้น เป็นประเภทที่เจ้าหนี้ "ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย" ให้ Enron รับผิดชอบได้
แต่ในบางกรณีอย่างเช่นการถูกลดคุณภาพหนี้สินที่อยู่ในงบดุลจนอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน่าลงทุน Enron ก็อาจต้องถูกบังคับให้จ่ายหนี้นอกงบดุลได้) ยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีมาก เท่าไร ดูเหมือนกลับยิ่งทำให้ Enron ถอยห่างจากคำมั่นสัญญาที่ จะปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของบริษัทออกไปทุกที Enron อ้างว่า สาเหตุที่มูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นลดลงอย่างมากนั้นเป็นเพราะ "การเลิกกิจการก่อนเวลาอันควร" ของห้างหุ้นส่วน LJM ซึ่งเป็นเหตุผลที่ค่อนข้างอ่อน และไม่เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนพอใจได้ โดยเฉพาะ เมื่อหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เริ่มขุดคุ้ยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับ LJM และพบข้อเท็จจริงว่า Fastow ได้รับค่าตอบแทนไปหลายล้าน ในขณะที่นั่งแป้นผู้บริหาร LJM อยู่ กระทั่งวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา Lay ยังคงยืนยันว่า Enron มีกระแสเงิน สดเป็นปกติ และธุรกิจของบริษัทยังคง "ดำเนินไปอย่างดีมาก" และยืน ยันว่า Fastow เป็นผู้ที่ยืนหยัดในความคิดของตนและไม่น่าจะต้องมา เสื่อมเสียชื่อเสียงเพราะเหตุนี้ ทว่าในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง Enron ก็ประกาศว่า Fastow จะลาหยุดงานไปสักพักหนึ่ง มาถึงขณะนี้เรารู้กันแล้วว่า ธุรกรรมที่ Enron ทำกับ "องค์กร อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง" ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อรายได้ของ Enron
วันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ข้อมูลจากเอกสารฉบับหนึ่งได้เปิดเผยให้นักลงทุนรู้ว่า Enron กำลังทบทวนรายได้ในอดีตตลอด 4 ปี กับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะ "มีองค์กร 3 องค์กรที่มิได้บันทึกลงในงบการเงิน และควรจะนำมาบันทึกลงในงบการเงิน เพื่อให้ถูกต้อง ตามหลักการทางบัญชีที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป" การทบทวนดังกล่าวส่งผลให้รายได้ของ Enron ลดลงถึงเกือบ 600 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 15%
นอกจากนี้ เอกสารฉบับดังกล่าวยังเตือนเป็นนัยๆ ว่า ข่าว ร้ายอาจยังไม่จบสิ้น Enron อาจจะค้นพบ "ข้อมูลเพิ่มเติมหรือข้อมูล ที่แตกต่าง" ไปจากที่เคยรายงานไว้ในงบการเงินอีก นักลงทุนที่ได้พิจารณารายการธุรกรรมระหว่าง Enron กับบรรดา "องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง" อย่างละเอียด นอกจากจะไม่ได้ความกระจ่างว่าเกิดอะไร ขึ้นกับ Enron แล้ว กลับยิ่งมึนงงสงสัยและเกิดคำถามใหม่อีกมากมาย มีการคาดเดาว่า บรรดาห้างหุ้นส่วนเหล่านั้นคงจะใช้เป็นที่สำหรับผ่องถ่ายรายได้ของ Enron
สมมติฐานนี้ยิ่งนำไปสู่คำถามอื่นๆ ต่อไปอีกเช่น หาก Enron เลิกเล่มเกมและกลับตัวกลับใจมาทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา บริษัทจะยังคงอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้ว Enron ไม่สามารถจะกลับมาเล่นแบบตรงไปตรงมาได้อีกแล้ว เพราะเรื่องจริงๆ ที่ยังคง รอการเปิดเผยต่อไปนั้น อาจจะทำให้เราช็อกกันได้ยิ่งกว่า
ดิ้นรนเฮือกสุดท้าย
Enron ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย (Chapter 11) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ทั้งๆ ที่ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น Dynegy บริษัทคู่แข่งรายหนึ่งของ Enron ทำท่าว่าจะเข้ามาช่วยกอบกู้บริษัทของศัตรู ด้วยการอัดฉีดเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยมีสิทธิเหนือธุรกิจท่อก๊าซซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ Enron คือ Northern Natural Gas เป็นหลักประกันการชำระหนี้ แล้วจากนั้นจะซื้อ Enron ทั้งหมดด้วยเงินประมาณ 10 พันล้านดอลลาร์ (ไม่รวมหนี้สิน)
แต่แล้วในวันที่ 28 พฤศจิกายน Dynergy กลับล้มเลิกแผน การกอบกู้ Enron ในวันเดียวกันนั้น Standard & Poor's ได้ประกาศลด คุณภาพหนี้สินของ Enron ลงต่ำกว่าระดับน่าลงทุน ส่งผลให้ Enron ต้องจ่ายคืนหนี้นอกงบดุลจำนวนเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ในทันที ซึ่ง Enron หมดปัญญาที่จะจ่าย และไม่มีทางเลือกนอกจาก Chapter 11
สาเหตุที่ Dynegy ตัดสินใจล้มกระดานแผนการกอบกู้ Enron ในครั้งนี้ อาจเป็นเพราะ "ปริศนา ของเงินที่หายไป" ทนาย Ken Randolph กล่าวว่า ทาง Dynegy คาดหวังว่า Enron คงจะมีเงินสดประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ แต่กลับเป็นที่เปิดเผยในวันที่ 19 พฤศจิกายนว่า Enron มีเงินสดจริงเพียงประมาณกว่า 1 พัน ล้านเล็กน้อยเท่านั้น "เรากลับไปที่ Enron เพื่อถามว่าเงินหายไปไหนหมด" Chuck Watson ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Dynegy เล่า "บางทีอาจ เป็นเพราะธุรกิจหลักของ Enron หาได้ แข็งแกร่งอย่างที่พวกเขาพยายาม ทำให้เราเข้าใจไม่" เป็นความเห็นของ Randolph
เรื่องราวของ Enron คงจะจบลงที่ศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เดียวกันที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทอื่นๆ ที่มีปัญหาทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง Fitch ได้ประเมินว่า เจ้าหนี้ของ Enron อาจได้รับเงินคืนเพียงประมาณ 20% ถึง 40% เท่านั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการต่อสู้แย่งชิงของบรรดาเจ้าหนี้ของ Enron จะไม่เป็นไปอย่างดุเดือด แต่กว่าจะจบก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ Enron เอง ยังไม่ได้ยอมแพ้แต่อย่างใด เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของ Enron คือ J.P. Morgan Chase และ Citigroup ได้อัดฉีดเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ Enron แล้ว ซึ่งคงจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างน้อยก็สักพักหนึ่ง
ในขณะที่ Enron ก็ยังคงดิ้นรนเสาะหาสถาบันการเงินที่จะมาช่วยสนับสนุนให้สามารถฟื้นธุรกิจค้าหลักทรัพย์ของตนได้อีก ครั้ง การยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามมาตรา 11 ของ Enron จะมีผลหยุดยั้งคดีฟ้องร้องที่มีต่อ Enron ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ จนกว่ากระบวนการล้มละลายจะผ่านพ้น แต่ถ้าหาก Enron จะขอความคุ้มครองจากกฎหมายให้ปกป้องผู้บริหารของตนด้วย ทนายความหลายคนเชื่อว่าน่าจะไม่สำเร็จ บรรดาผู้บริหารของ Enron คงจะต้องต่อสู้คดีถ้าหากถูกฟ้อง บางคนคิดว่าอดีตผู้บริหาร Enron อย่าง Skilling และ Fastow น่าจะโดนคดีอาญาด้วย แต่ทนาย ความที่มีชื่อเสียงอย่าง Ira Sorkin ชี้ว่า คดีอาญาต้องการหลักฐานที่มีมาตรฐานสูงกว่าคดีแพ่งมาก และจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าอดีต ผู้บริหารเหล่านั้น "บริหารผิดพลาดโดยเจตนา"
นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถจะอ้าง Arthur Anderson บริษัทสอบบัญชีของ Enron เป็นโล่ได้ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ต้องผ่านการตรวจสอบ ของ Arthur Anderson ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม Enron เป็นบริษัทมหาชน ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ต่อพนักงานและผู้ถือหุ้น ผู้ได้ มอบความเชื่อถือไว้วางใจในตัว ผู้บริหาร คณะกรรมการบริษัทและผู้สอบบัญชีว่า จะสามารถดูแลปกป้องงานและเงินของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่า ผู้บริหารของ Enron จะถูกตัดสินว่าผิดหรือไม่ก็ตาม หลายๆ คนก็รู้สึกว่า อาชญากรรมได้เกิดขึ้นแล้ว
*****************
แปลและเรียบเรียงจาก FORTUNE December 24/2001
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
source: http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=33413
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น