หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

บันทึก 22 กลยุทธ์การลงทุน

1.เมื่อวิเคราะห์ว่าหุ้นจะขึ้น ให้หยุดขาย กลับเป็นซื้อให้มาก

2.เมื่อวิเคราะห์ว่าหุ้นจะลง ให้หยุดซื้อ กลับเป็นขายให้เป็นขาย

3.เมื่อขายหุ้นหนึ่งไปแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบหาหุ้นใหม่ทันที แต่จะซื้อก็ต่อเมื่อวิเคราะห์แล้วว่าหุ้นตัวนั้นๆ น่าจะมีแนวโน้มขึ้นเท่านั้น

4.ในสภาวะตลาดขาขึ้น สัญญาณซื้อมีน้ำหนักมากกว่า สัญญาณขาย ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณซื้อ ควรซื้อให้มากพอในราคาที่เหมาะสมกับช่วงนั้นๆโดยไม่ลังเล เมื่อหุ้นขึ้นไปแล้วมีการปรับตัว หากยังซื้อไม่เต็มที่ ครั้งนี้ก็เป็นจังหวะให้เข้าซื้อเพิ่มการปรับตัวบางครั้งอาจปรับตัวจนเกิดเป็นสัญญาณขายระยะสั้นจากสัญญาณทางเทคนิคบางตัว หากสัญญาณที่แสดงแนวโน้มยังไม่เปลี่ยน ควรมีความมั่นคงของจิตใจว่าสัญญาณในขาขึ้นมีน้ำหนักน้อยกว่า สัญญาณซื้อ ดังนั้นสัญญาณขายนั้นอาจเป็นสัญญาณขายลวง โดยเฉพาะเมื่อมีปริมาณการซื้อขายไม่มากในขณะที่มีสัญญาณขาย และหากขายไปแล้วหุ้นกลับขึ้นอาจทำให้ซื้อหุ้นไม่ทันเสียของไปเลย หากซื้อทันก็อาจมีส่วนต่างที่ไม่คุ้มกับค่านายหน้า

5.ในสภาวะตลาดขาลง สัญญาณขายจะมีน้ำหนักมากกว่าสัญญาณซื้อ ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณขายก็ควรขายในราคาที่เหมาะสมในเวลานั้นโดยไม่ลังเล และหากมีการปรับตัวขึ้นจนเกิดเป็นสัญญาณซื้อระยะสั้น สัญญาณซื้อนั้นอาจเป็นสัญญาณซื้อลวง โดยเฉพาะเมื่อมีปริมาณการซื้อขายไม่มากในขณะที่มีสัญญาณซื้อ ซึ่งที่จริงเป็นจังหวะให้ขายอีกครั้งมากกว่า

6.ในสภาวะตลาดขาขึ้น หากต้องการปรับการถือครองหุ้น ควรจะซื้อหุ้นที่หมายตาไว้ ก่อนที่จะขายหุ้นที่ต้องการขายออกไป

7.ในสภาวะตลาดขาลง หากต้องการปรับการถือครองหุ้น ควรจะขายหุ้นที่ต้องการขายออกไป ก่อนที่จะซื้อหุ้นที่หมายตาไว้เข้ามา

8.อย่าซื้อหุ้นโดยที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ก่อน นักลงทุนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของความโลภ เช่น มีเพื่อนหรือเจ้าหน้าที่การตลาดชวนซื้อหุ้น โดยบอกว่าหุ้นนั้นๆกำลังไล่กันอยู่ ราคาจะวิ่งขึ้นไปเท่านั้นเท่านี้ ถ้าไม่รีบจะซื้อไม่ทัน เป็นต้น ควรถือคติที่ว่า น้ำลายไหลดีกว่าน้ำตาตก

9.การขายหุ้น ไม่ควรคิดถึงต้นทุนที่เราซื้อมา เพราะถ้าราคาปัจจุบันสูงกว่ามาก ขายแล้วจะได้กำไรมาก อาจทำให้เราตั้งราคาถูกกว่าราคาที่ควรจะเป็น หากราคาปัจจุบันต่ำกว่ามาก ถ้าขายแล้วจะทำให้เราขาดทุนมาก อาจทำให้ตัดใจยาก แล้วตั้งราคาขายสูงกว่าที่ควร ทำให้ขายไม่ได้ ต้องติดหุ้นราคาสูงต่อไป ซึ่งที่จริงไม่ควรคิดถึงต้นทุนที่เราซื้อมา จะทำให้เราตั้งราคาขายให้เหมาะสมกับสภาวะที่แท้จริงได้

10.การซื้อหุ้น ไม่ควรคิดถึงราคาในอดีตที่เราเคยซื้อมาก่อน เพราะหากราคาปัจจุบันสูงกว่าราคาที่เราเคยซื้อมามาก จะทำเราทำใจในการเข้าซื้อยาก เราอาจตั้งซื้อต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่หากราคาปัจจุบันต่ำกว่าราคาที่เราเคยซื้อมามาก จะทำให้เราอยากเข้าซื้อมากเกินไป เราอาจตั้งซื้อสูงกว่าที่ควรจะเป็น

11.อย่าซื้อขายหุ้นมากตัวเกินไป การซื้อขายหุ้นมากตัวเกินไปอาจทำให้คุณผิดพลาดในการควบคุมดูแล และคุณอาจเกิดความสับสนและตั้งสติไม่ทันกับ ความโกลาหลในการซื้อขายหุ้น ถ้าจะกล่าวไปแล้วคุณก็คงเข้าใจได้ว่าภาวะตลาดในแต่ละวันนั้นแตกต่างกันไป บางวันน่าซื้อนิดหน่อย บางวันน่าซื้อมาก บางวันไม่น่าซื้อเลยแต่น่าขาย รวมทั้งบางวันไม่น่าซื้อและไม่น่าขายเลยควรอยู่เฉยๆเพราะฉะนั้นคุณจึงควรซื้อขายหุ้นตามภาวะตลาดที่เป็นจริง ไม่ควรซื้อขายหุ้นตามอารมณ์คึกคะนอง หรือประเภทอดไม่ได้คันไม้คันมือซื้อขายหุ้นโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ใจความสำคัญของกฎข้อนี้คือ ไม่ให้คุณซื้อขายหุ้นโดยไม่จำเป็น คือไม่จำเป็นที่จะต้องเสี่ยงเหมือนเล่นการพนัน

12.ต้องรู้จักหยุดยั้งการขาดทุน (Stop loss) หากมีความจำเป็นต้องขายตัดการขาดทุน (Stop loss) อย่าทำผิดพลาดเหมือนนักลงทุนลงทุนส่วนใหญ่ที่มักจะขายหุ้นที่มีกำไรออกก่อน และเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้เพราะตัดใจขายไม่ได้ ที่จริงควรขายหุ้นที่วิเคราะห์แล้วว่าจะมีอัตราการลงมากที่สุดก่อน เพราะหุ้นเหล่านี้จะทำให้เราเสียหายมากกว่าหุ้นที่ยังมีกำไร ซึ่งมักเป็นหุ้นที่มีความแข็งแกร่งมากกว่า และหุ้นที่มีความแข็งแกร่งกว่าเวลาตลาดปรับตัวลงก็จะลงเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า

13.ต้องรู้จักสะสมกำไร (let profit run) เมื่อซื้อหุ้นเพราะวิเคราะห์แล้วว่าหุ้นนั้นมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ควรปล่อยให้แนวโน้มนั้นทำกำไรจนกว่าจะเห็นว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแนวโน้มจึงขายหุ้นออกให้หมด

14.อย่าปล่อยให้กำไรกลายเป็นขาดทุน ถ้าราคาหุ้นในมือของคุณสูงขึ้นจนคุณมีกำไร เช่น ราคาหุ้นปรับจาก 50 บาท เป็น 62 บาท มีกำไรต่อหุ้น 12 บาท แล้วยังมีแนวโน้มขึ้นต่อ คุณก็ควรกำหนดว่าต้องการกำไรเท่าใด หากต้องการกำไรไม่น้อยกว่า 10 บาท คุณก็ควรกำหนดว่าหากราคากลับลงมาที่ 60 บาทให้ขายทันที หากโชคดีคุณก็อาจมีกำไรมากกว่านั้นมาก หากโชคไม่ดีหุ้นกลับลงมาคุณก็จะมีกำไรอย่างน้อย 10 บาท เป็นการปิดทางที่คุณจะได้กำไรน้อยกว่า 10 บาท ออกไปด้วยและโอกาสที่คุณขาดทุนก็จะหมดไปอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่ถือกฎเกณฑ์นี้ หากหุ้นกลับลงมาก็อาจทำให้กำไรที่มีอยู่กลับขาดทุนได้เมื่อราคาหุ้นลดลงมาเรื่อยๆจาก 62 บาท และในที่สุดอาจเหลือเพียง 46 บาท กำไรที่คุณเคยได้รับเป็นตัวเลขไม่น้อยกว่า 10 บาท ก็กลายเป็นขาดทุนหุ้นละ 4 บาท ได้ ดังนั้นควรพอใจในการทำกำไรที่ได้รับระดับหนึ่ง

15.อย่าซื้อขายหุ้นโดยไม่มองแนวโน้มตลาด เมื่อคุณไม่แน่ใจในภาวะตลาดจงออกจากตลาด และอย่าเข้าตลาดหากคุณไม่มั่นใจ การเล่นหุ้นเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ตลาดหุ้นมีความผันแปรเปลี่ยนแปลงชนิดนาทีต่อนาที ตามปัจจัยทั้งที่มีคนควบคุมและปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ควรเข้าตลาด หรือหากคุณมีหุ้นอยู่ในพอร์ตแล้วเกิดความไม่แน่ใจในภาวะตลาด ก็ควรออกจากตลาดโดยการขายหุ้นล้างพอร์ตไปเสียก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรลดพอร์ตลงบางส่วน

16.ไม่ควรทุ่มเทเงินทั้งหมดลงไปในหุ้นเพียงตัวใดตัวหนึ่ง ควรกระจายความเสี่ยงไปกับหุ้นในแต่ละกลุ่มที่มีแนวโน้มที่ดีในจำนวนที่เราสามารถควบคุมดูแลได้อย่างไม่หนักใจ ถ้าคุณเป็นนักเล่นหุ้นที่รอบคอบ ก็ไม่ควรเล่นหุ้นเพียงตัวใดตัวหนึ่งโดยใช้เงินทุนทั้งหมด เพราะหุ้นเพียงตัวเดียวนั้นถ้าราคาปรับลดลงคุณก็จะเสียหายเต็มที่ แต่หากคุณกระจายความเสี่ยงโดยแบ่งเงินลงทุนในหุ้น 3-5 ตัว และกระจายกลุ่มด้วยคุณก็จะๆไม่เสี่ยงมากจนเกินไป เพราะในขณะที่หุ้นบางตัวตก แต่หุ้นบางตัวอาจปรับขึ้น ก็อาจชดเชยความเสียหายได้บ้างไม่ต้องเสียหายทั้งหมด

17.อย่ากำหนดคำสั่งซื้อขายของคุณไว้ตายตัว จงซื้อขายตามสภาวะตลาด นักลงทุนบางคนมักจะกำหนดเป้าหมายราคาซื้อหรือราคาขายหุ้นไว้แบบตายตัว ไม่ยืดหยุ่นไปตามภาวะตลาดที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการซื้อหรือขายหุ้นไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้เพราะโดยนิสัยของนักเล่นหุ้นทั่วไปมักกลัวซื้อของแพง จึงมักตั้งราคาขายไว้สูงกว่าที่ควรจะเป็น แต่ภาวะตลาดที่เป็นจริงนั้นจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเสมอไป ดังนั้นโดยเหตุผลแล้วคุณจึงควรยืดหยุ่นไปตามภาวะตลาดมากกว่าจำกัดตายตัวลงไป

18.หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ดีก็มีวันของมัน หุ้นทุกตัวย่อมมีวันของมันทั้งนั้น อย่าดูถูกหุ้นที่มีพื้นฐานที่ไม่ดี เพียงแต่การเข้าซื้อขายอาจมีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ดีเมื่อถึงเวลาของมัน หุ้นเหล่านี้ก็มีสิทธิที่ราคาจะวิ่งขึ้นได้ดีกว่าหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีแต่ยังไม่ถึงเวลา แต่ต้องระวังเมื่อตลาดเป็นขาลง ราคาหุ้นก็มักจะตกลงมากกว่าตัวอื่น

19.อย่าผูกพัน ชอบ หรือเกลียดหุ้นใดหุ้นหนึ่งจนเกินไป เช่น เคยซื้อหุ้นนั้นแล้วขาดทุน ก็พยายามหาจังหวะแก้แค้น ซึ่งมักจะทำให้เราเสียเวลามากเป็นพิเศษและมักมีอคติกับหุ้นตัวนั้น ทำให้การวิเคราะห์ไม่เป็นกลางเกิดความผิดพลาดได้ง่ายควรจะวิเคราะห์หาหุ้นที่น่าจะทำกำไรได้โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นหุ้นตัวนั้นๆ

20.อย่าซื้อเฉลี่ยในตลาดขาลงหรือซื้อเฉลี่ยการขาดทุนหากคุณติดหุ้นในราคาสูง เมื่อราคาหุ้นได้ลดลงมามากแล้วคุณคิดจะซื้อเพื่อเฉลี่ย จะเท่ากับคุณได้เพิ่มพอร์ตหุ้นที่คุณขาดทุนมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของคุณจะยังสูงกว่าราคาตลาด แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา กลับทำให้คุณนำเงินทุนเข้าไปติดกับดักสภาพคล่องมากขึ้น เป็นข้อห้ามที่หลายๆตำราได้กล่าวไว้ว่า การแก้ปัญหานั้นต้องวิเคราะห์ว่าหุ้นนั้นๆมีแนวโน้มเป็นอย่างไร หากหุ้นนั้นไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น เป็นการสร้างโอกาสที่จะทำกำไรจะดีกว่า

21.ควรปรับพอร์ตเป็นระยะเพื่อให้หุ้นในพอร์ตมีความแข็งแกร่งกว่าตลาดรวม เมื่อหุ้นตัวใดในพอร์ตมีแนวโน้มราคาลดลงก็ควรขายทิ้ง และเมื่อวิเคราะห์ว่าหุ้นตัวใดมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นก็อาจซื้อเข้าพอร์ต แต่ไม่ควรมีหุ้นในพอร์ตมากเกินกว่าที่จะดูแลได้

22.ควรหาวิธีลงทุนให้ปราศจากความกลัวและมีความสุข ถ้ามองกันให้ดีเราทุกคนล้วนเป็นนักลงทุน เพียงแต่จะลงทุนในเรื่องอะไรเท่านั้น แม้แต่การฝากเงินในธนาคารก็เป็นการลงทุนเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่าในชีวิตของแต่ละคนมีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เราต้องลงทุน และการลงทุนให้ปราศจากความกลัว (trading without fear) และมีความสุขก็ไม่ยากอย่างที่คิด คนเรามีความกลัวในสิ่งใดก็เพราะความไม่รู้ในสิ่งนั้น การลงทุนในหลักทรัพย์ให้ถ่องแท้ ศึกษาถึงความน่าจะเป็น ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามที่เราวิเคราะห์ เพียงแต่เดินตามทางของโอกาสที่มีมากกว่าเท่านั้น ส่วนเรื่องลงทุนอย่างไรให้มีความสุขนั้น ความสุขเกิดได้จากความพอใจ หากเรามีความพอใจ เราก็มีความสุข เราจะมีความพอใจได้ก็ต้องรู้จักมองสรรพสิ่งตามสภาพที่เป็นจริง อย่าหวังอะไรเกินจริง เราก็จะพอใจในผลของการลงทุนได้

กลยุทธ์ทั้ง 22 ข้อนี้ มาจาก "หนังสือมหัศจรรย์แห่งเทคนิค" ของคุณสนธิ อังสนากุล เล่มนี้ครับ



ที่มา:


วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฉากเดิม เหตุผลใหม่

คอลัมน์ วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 , หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น

การขายทิ้งหุ้นแบบเทกระจาดของกองทุนเก็งกำไรทั่วโลกในตลาดเอเชียครั้งล่าสุดนี้ติดกัน 2 วัน มีลักษณะเหมือนกับการฉายหนังซ้ำเหมือนกับสถานการณ์เมื่อปลายเดือนมีนาคมต่อเมษายนยาวนา 3 สัปดาห์ กล่าวคือ เป็นการถอนตัวจากตลาดเอเชียเพื่อเอาเงินเก็งกำไรกลับไปยังตลาดสหรัฐ แต่ด้วยเหตุผลต่างกัน
ครั้งเดือนมีนาคม-เมษายนนั้น อ้างเหตุผลว่า เป็นเพราะหวาดกลัวว่า เฟดฯ จะลดการพิมพ์ธนบัตรในมาตรการ QE ลง ทำให้ซึ่งจะยังผลให้ ภาระหนี้เอกชนที่เฟดฯ แบกรับอยู่จะกลับคืนสู่ต้นทาง รัฐไม่ต้องแบกเหมือนใน 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเคลื่อนย้ายทุนเก็งกำไรจากตลาดเอเชียไปสู่สหรัฐ โดยย้ายจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดตราสารหนี้
ครั้งนี้ อ้างเหตุผลอีกแบบหนึ่ง คือ เศรษฐกิจเอเชียหลายประเทศ เข้าข่ายขาลง หรือชะลอตัวลง จนกระทั่งปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ จะต้องมีมูลค่าต่ำลงไปจนไม่คุ้มกับการเสี่ยงลงทุนอีกต่อไป โดยยกเหตุผลจากการปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในหลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และไทย เป็นเหตุสำคัญ
เหตุผลที่เชื่อมโยงตัวเลขเศรษฐกิจประเทศ เข้ากับการขายหุ้นทิ้งในตลาด ถูกนำมาเชื่อมโยงด้วยตรรกะที่แม้กระทั่งนักวิเคราะห์ก็นำไปใช้อ้างกันอย่างแพร่หลาย โดยไม่ต้องรู้สึกว่าผิดถูกอย่างใด เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความชอบธรรมของการถอนตัวของทุนเก็งกำไรต่างชาติว่าแสดงถึงความไม่ไว้วางใจต่อเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ (ไม่นับญี่ปุ่นและสิงคโปร์) เป็นตลาดเงินของชาติกำลังพัฒนาที่มีขนาดเล็ก และมีเกราะกำบังป้องกันตัวเองต่ำเพราะขาดประสบการณ์ในการรับมือการไหลเข้าและไหลออกของทุนเก็งกำไร
มุมมองว่าตลาดเก็งกำไรในเอเชีย ให้ผลตอบแทนต่ำกว่ากลับไปยังสหรัฐ อาจจะเป็นได้ทั้งมายาคติ หรือเป็นข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียว ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่กระต่ายที่ตื่นตูม ก็พากันขายอย่างจริงจัง โดยใช้คำกล่าวอ้างถึงการปรับลดประมาณการของเศรษฐกิจเอเชียโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 0.3% จากเดิม 7.2%
ในกรณีของไทยนั้น ปี 2555 ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 7 หมื่นกว่าล้านบาท แต่จนถึงล่าสุดในปีนี้ ได้กลายเป็นขายสุทธิไปแล้ว ทำให้เงินลงทุนสุทธิติดลบ 3.6 พันล้านบาทเมื่อสิ้นการซื้อขายวันจันทร์ที่ผ่านมา ยังขายต่อเมื่อวานนี้อีกถึง 1 หมื่นกว่าล้านบาท เรียกว่าขายจนเกลี้ยงพอร์ต แล้วยังยืมมาขายเพิ่มจากที่มีอยู่เดิมอีก ถือเป็นการถอนตัวอย่างสิ้นเชิงของต่างชาติทีเดียว
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การถอนตัวนำเงินกลับของต่างชาติ จะทำให้เมื่อวานนี้ ค่าเงินบาทไทยอ่อนยวบในรอบ 1 ปี ขึ้นไปเหนือ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ และมีโอกาสจะร่วงต่อไปที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายๆในสัปดาห์นี้
โดยข้อเท็จจริง การถอนตัวของตลาดหุ้นเอเชียของกองทุนเก็งกำไร ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ดัชนี MSCI Asia Pacific Index ตกต่ำลงไปถึง 7.7% มากกว่าการตกต่ำของดัชนี S&P 500 ที่ร่วงลงไปแค่ 1.2% และดัชนี Stoxx Europe 600 ที่ร่วงลงไป 1.6%
กองทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้นนอกสหรัฐฯผ่านกองทุน ETFs มีมูลค่ามากถึง 155.6 แสนล้านดอลลาร์ แต่มาลงทุนในเอเชียประมาณ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 0.05% การถอนตัวเพียงเล็กน้อยของกองทุนที่กระจายในตลาดเอเชีย อาจจะไม่กระทบกับตลาดจีน หรือญี่ปุ่นมากนัก แต่สำหรับตลาดทุนขนาดเล็กอย่างอาเซียน ถือว่ารุนแรงทีเดียว เพราะกองทุนเก็งกำไรต่างชาติพวกนี้ ถูกถือเป็นกลุ่มขับเคลื่อนตลาดที่มีน้ำหนักชี้นำมากในสายตาของนักวิเคราะห์ท้องถิ่น
การเหวี่ยงกลับของกองทุนเก็งกำไรต่างชาติในช่วงล่าสุดเดือนสิงหาคม ที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับไตรมาสแรกของปีนี้  ทำให้ชะตากรรมของตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนผกผันยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ ด้านหนึ่งมีผลทำให้ ราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ถูกเทกระจาดขาย กลับมามีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน
ส่วนอีกด้านหนึ่ง การเคลื่อนตัวของกองทุนเก็งกำไรที่ส่งผลสะเทือนสูงเหล่านี้ เป็นการเคลื่อนตัวของทุนส่วนเกินที่มุ่งแสวงหากำไรจากการโฉบเฉี่ยวไปมาโดยที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัยฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆมากมาย การไหลเข้าไปตลาดไหน ก็ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจประเทศนั้นมีความโดดเด่น หากไหลออกก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของประเทศนี้ใกล้พังทลาย
กระบวนทัศน์ในการมองทิศทางของตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ในโลก รวมทั้งตลาดปริวรรตเงินตรา จึงต้องยืดหยุ่นตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง
ในกรณีของตลาดหุ้นไทย ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนถือว่ายังคงแข็งแกร่งยิ่งนัก กำไรครึ่งแรกของปีที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 17% แม้ว่าจะถูกถ่วงน้ำหนักจากผลพวงของค่าเงินบาทแข็งเกิน และการปรับฐานสู่ระดับปกติหลังจากที่มีการอัดฉีดเกินปกติของนโยบายรัฐบาลหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ก็ถือได้ว่า การบิหารจัดการของผู้ประกอบการยืดหยุ่นกับสภาพอย่างแข็งแกร่ง
ข้อสรุปจาก ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นกลาง หลังจากการเปิดเผยตัวเลข จีดีพีไตรมาส 2 ว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล และยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตที่รุนแรง  จึงอาจจะสร้างขวัญและกำลังใจให้นักลงทุนได้บ้าง
ปล่อยให้ต่างชาติถอนตัวออกไปให้หมด จะได้ไม่ต้องกังวลว่าพวกนี้จะขายออกไปอีกกี่มากน้อย เพื่อจะไม่ต้องดูหนังน้ำเน่าซ้ำซาก


ขอขอบคุณที่มา: http://www.kaohoon.com

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

10 อันดับแนวทางที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต

ความสำเร็จย่อมมีแนวทางที่ต่างกันออกไปในแต่ละคน ทั้งอยู่ที่ความพึงพอใจของแต่ละคนเอง ที่บางคนอาจมองว่ายังไม่สำเร็จจริง บางคนก็มองว่าเพียงเท่านี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว แน่นอนว่าการที่เราจะประสบความสำเร็จก็จะต้องใช้หลักทฤษฎีและการปฏิบัติตามสภาพแวดล้อมแต่ละคนตามความเหมาะสม ต่อไปนี้คือ 10 อันดับที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ซึ่งมีดังนี้คือ

10.สำรวจตัวเอง
ก้าวแรกในการที่จะประสบความสำเร็จนั้น ก็ต้องสำรวจตัวเองว่า ตัวเรามีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ทั้งยังต้องดูความเปลี่ยนแปลงตัวเองในแต่ละย่างก้าวด้วยว่าเป็นยังไงบ้าง ไม่ใช่เดินหน้าลุยลูกเดียว หากเราไม่ทำการสำรวจตัวเองเลย เราก็จะไม่รู้เลยว่าเพราะอะไรตัวเราถึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าจะวางแผนดีแค่ไหนก็ตาม

9.มองหาบุคคลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ
ความสำเร็จย่อมมีแรงบันดาลใจในการหนุนหลังให้กับเรา ซึ่งแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากบุคคลต้นแบบที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิต ที่พวกเขาจะแชร์มุมมอง ทัศนคติตามแบบฉบับของพวกเขาเอง เราก็นำสิ่งเหล่านี้มาเป็นแรงกระตุ้นเพื่อสานฝันความสำเร็จให้กับตัวเองได้ ไม่ใช่ใช้แต่ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ เราควรที่จะเปิดรับทัศนคติให้กว้างมากขึ้นจากบุคคลอื่นด้วย

8.คิดบวกเสมอ
ไม่มีทางเลยที่ความสำเร็จจะเกิดมาจากการคิดลบตลอด ความสำเร็จทุกอย่างจะต้องมาจากการคิดบวกเสมอ หากเรากำลังคิดลบ ก็ต้องรู้ด้วยว่า จะทำให้เราไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เลย แม้ว่าจะพยายามหนักมากแค่ไหนก็ตาม การคิดบวกจะช่วยให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆได้อย่างราบรื่น แม้ว่าจะเจอหนักแค่ไหน เราก็ยังรู้สึกยินดีกับมันที่ปัญหาเข้ามาหาเรา เพราะการคิดบวกจะทำให้เราคิดว่า ปัญหาต่างๆจะนำไปสู่ความสำเร็จในภายภาคหน้า

7.ให้ความเคารพตัวเอง
การให้เคารพ ให้เกียรติ์ตัวเองจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีพลังอำนาจในการทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น หากเราไม่เคยให้ความเคารพตัวเองเลย เราก็รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่เหมาะกับความสำเร็จอะไรเลย ฉะนั้นเราจะต้องหันมาส่องกระจกตัวเอง แล้วก็ฝึกฝนการให้ความเคารพตัวเองอยู่เสมอ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองว่า เราเองก็มีดีพอที่จะทำสำเร็จเรื่องต่างๆได้ ไม่ใช่ให้คนอื่นมาเป็นกระจกแทนเรา

6.ลืมอดีตแล้วมองปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า
ข้อนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเราทุกคนล้วนก็มีอดีตกันมาทั้งนั้น มีความผิดพลาดที่เคยทำไว้ในอดีต เราก็มักจะนำมาจดจำจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมันจะทำให้เรามีปัญหาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้เราจะต้องลืมเลือนอดีตและก็อภัยให้กับตัวเองที่เคยทำผิดพลาดมา แล้วเราก็นำมาเป็นบทเรียนในปัจจุบัน เพื่อที่จะทำให้เราสามารถวาดภาพความสำเร็จได้ในอนาคตข้างหน้าต่อไป

5.พัฒนาทักษะตัวเองอยู่เสมอ
ความสำเร็จนั้นจะต้องมีการฝึกฝนทักษะต่างๆเพื่อให้ตัวเองก้าวหน้าไม่มีที่สิ้นสุด หากเราละเลยที่จะพัฒนาทักษะตัวเอง ก็อย่าไปคิดฝันเลยว่าความสำเร็จจะเข้ามาเรา เราจะต้องพัฒนาทักษะตัวเองเพื่อให้เราสามารถคว้าความสำเร็จได้อย่างสง่างาม จะสังเกตได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตล้วนแล้วมีการพัฒนาทักษะเรื่อยๆไม่มีหยุด ตรงกันข้ามคนที่ไม่พัฒนาทักษะเลยก็มัวแต่คิดฝันกลางวันแบบนี้ไปเรื่อยๆ

4.จะต้องเจอกับความผิดพลาดก่อน
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองเกิดความผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว แต่หารู้ไม่ว่าความผิดพลาดต่างๆที่เราเคยได้ทำมา มันเป็นชนวนสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพราะความผิดพลาดจะเกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ของเราเอง ที่ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนอื่นๆ ในขณะที่คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลย ก็จะเป็นคนที่ไม่เคยลงมือทำอะไรเลย เพราะว่าพวกเขากลัวที่จะผิดพลาดเท่านั้น พูดง่ายๆก็คือกลัวเสียหน้าเท่านั้นเอง เราจะต้องกล้าเผชิญหน้ากับความผิดพลาดและก็เรียนรู้กับมัน

3.เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ความสำเร็จไม่ใช่แค่เรียนรู้ไปเรื่อยๆเท่านั้น แต่จะต้องฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่อยู่บนโลกใบนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัจจุบันการเรียนรู้จะมีหลายสิ่งหลายอย่างใหม่ๆเข้ามามากขึ้น ทำให้เรายิ่งต้องเรียนรู้กับเรื่องพวกนี้เอาไว้ให้มากๆ ไม่ว่าผู้คนจะมองกับเราว่าเราบ้าบิ่น ผิดเพี้ยนไปจากมนุษย์ส่วนใหญ่ เราก็ไม่ต้องไปสนใจ เราก็เรียนรู้สิ่งที่เข้าใหม่ในชีวิตของเรา เพื่อที่จะได้มีอาวุธใหม่ๆเข้ามาในหัวของเราเพื่อผลักดันความสำเร็จให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก

2.จะต้องกล้าเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะเป็นคนที่กล้าเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเอง ผู้อื่น รวมถึงโลกใบนี้ด้วย หากเราอยากที่จะประสบความสำเร็จจริง เราก็ต้องมีความกล้าบ้าบิ่นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากเรามองให้ไกลกว่าอีก ก็ต้องรวบรวมความกล้าทั้งหมดที่อยู่ในตัวเราออกมาเปลี่ยนแปลงผู้อื่นและโลกใบนี้ด้วย ฉะนั้นเราอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด เพราะการเปลี่ยนแปลงจะทำให้โอกาสใหม่ๆเข้ามาหาเรามากยิ่งขึ้น แต่ที่คนส่วนใหญ่กลัวก็เพราะว่ากลัวความเสี่ยง กลัวว่าชีวิตจะไม่เหมือนเดิม เราจะต้องกล้าเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆไม่มีสิ้นสุด

1.จะต้องมีสูตรสำเร็จเป็นของตัวเอง
ข้อนี้ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพราะแต่ละคนที่ประสบความสำเร็จก็จะมีการดำเนินชีวิต มีการวางแผน กลยุทธ์ต่างๆในการเดินเกมชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ทั้งยังต้องคิดค้นวิธีการที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่เพื่อที่จะได้เปรียบมากกว่าคนอื่น แน่นอนว่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จที่มีชื่อเสียงนั้น เขาจะมีสูตรสำเร็จเป็นของตัวเอง แม้ว่าสิ่งที่เราได้ยินมาว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้จริง เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็นำปรัชญานี้ไปใช้กันหมดแล้ว ก็ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น โอกาสทองจึงไม่เข้าหาทุกคนที่ใช้ปรัชญานี้ เพราะฉะนั้นหากเราอยากที่จะประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีสูตรสำเร็จไปของตัวเอง อย่าไปสนใจว่าคนอื่นจะเป็นยังไงก็ตาม เราจะต้องยอมรับสูตรที่เราสร้างขึ้นมาเอง



วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินในสาขาการลงทุน และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเงินต่างๆ มากมาย

ทฤษฎีเหล่านั้น แน่นอน ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงโดยใช้ตัวเลขทางสถิติ แต่พอมาเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักลงทุนจริงๆ ผมก็พบว่า ยังมีทฤษฎีอีกมากมาย ที่มีการพูดกันโดยที่ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการใช้สถิติ แต่เป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ของคนในวงการที่พูดแล้วมีคนเห็นด้วย และเชื่อว่าน่าจะเป็นความจริง ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ และอาจจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงนำเสนอทฤษฎีการลงทุนสักสองเรื่องดังต่อไปนี้

ทฤษฎีแรก คือ ทฤษฎี "งานคอกเทล" ซึ่งเสนอโดย ปีเตอร์ ลินช์ ทฤษฎีนี้บอกว่าภาวะหรือดัชนีตลาดหุ้นนั้น สามารถทำนายได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงแบบคอกเทลที่ตัวเขา ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนรวมจะประสบ นั่นคือ

ในช่วงที่ 1 ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นได้ตกลงมาระยะหนึ่งแล้ว และไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะขึ้นมาได้อีก คนในงานจะไม่มีใครพูดถึงตลาดหุ้น ที่จริงถ้าพวกเขารู้ว่าลินช์เป็น "ผู้บริหารกองทุนรวม" พวกเขาก็จะพยักหน้าอย่างสุภาพแล้วก็จะรีบเดินจากไป หรือไม่อย่างนั้น ก็จะเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็วไปเป็นเรื่องการแข่งฟุตบอล หรือเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในไม่ช้าก็จะหันไปคุยกับหมอฟันเรื่องฟันผุมากกว่า ถ้าลินช์เจอสถานการณ์แบบนี้ ที่คนยินดีที่จะพูดกับหมอฟันมากกว่าผู้จัดการกองทุน เขาบอกว่าเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นกำลังจะขึ้นแล้ว เตรียมเก็บหุ้นได้

ช่วงที่ 2 เมื่อลินช์แนะนำตัวว่าทำมาหากินอะไรแล้ว คนหน้าใหม่จะอ้อยอิ่งอยู่กับเขานานขึ้นเล็กน้อย บางทีอาจจะนานพอที่จะพูดกับเขาว่าหุ้นนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหนก่อนที่จะย้ายไปพูดคุยกับหมอฟัน อย่างไรก็ตาม คนก็ยังอยากพูดคุยกับหมอฟันมากกว่า ?เซียนหุ้น? ขณะนั้น หุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นมาแล้วจากช่วงที่หนึ่งประมาณ 15% แต่คนก็ยังไม่ค่อยใส่ใจ ช่วงนี้หุ้นก็น่าจะยังดีอยู่

ช่วงที่ 3 ขณะนี้ ดัชนีหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไป 30% แล้วจากช่วงที่หนึ่ง กลุ่มคนที่สนใจจะเลิกสนใจหมอฟันและหันมาล้อม ปีเตอร์ ลินช์ คนแล้วคนเล่าจะพยายามดึงเขาออกมาอยู่ข้างๆ ห้อง เพื่อที่จะคุยกับเขาเกี่ยวกับหุ้น แม้แต่หมอฟันก็ยังถามเขาว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน ทุกคนในงานดูเหมือนจะได้ใช้เงินซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปแล้ว และต่างก็สนทนากันว่าเกิดอะไรขึ้น

ช่วงที่ 4. นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ ปีเตอร์ ลินช์ จะถูกแขกในงานห้อมล้อม แต่ครั้งนี้ จะเป็นคนอื่นที่จะบอกกับลินช์ว่าหุ้นตัวไหนที่เขาควรซื้อ แม้แต่หมอฟันก็ยังมี "หุ้นเด็ด" ให้เขา 3-4 ตัว และในเวลา 2-3 วันต่อมา เมื่อเขาเปิดหนังสือพิมพ์ดูก็พบว่าหุ้นที่แนะนำทุกตัวนั้นขึ้นกันหมด ลินช์บอกว่าเมื่อเพื่อนบ้านหรือคนในงานเลี้ยงบอกว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน และเขาหวังว่าตนเองจะได้เชื่อคำแนะนำนั้น มันก็เป็นสัญญาณที่แน่ชัดว่า ตลาดหุ้นได้ขึ้นไปถึงยอดดอยและพร้อมที่จะตกแล้ว รีบขายหุ้นเสียถ้าคุณเป็นนักเล่นหุ้น

ถ้าถามว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเราในช่วงนี้เป็นอย่างไร ผมวิเคราะห์โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุนมานาน และมักได้สัมผัสกับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงที่สามช่วงท้ายๆ นั่นก็คือ มีคนสนใจและถามเรื่องตลาดหุ้น และตัวหุ้นกับผมเป็นจำนวนมาก บางคนก็เริ่มแนะนำหุ้นให้ผมและผมพบว่าหุ้นเหล่านั้นปรับตัวขึ้นเร็วมากและผมเสียดายที่ไม่ได้ซื้อไว้ ซึ่งนี่เป็นสัญญาณของช่วงที่สี่ อย่างไรก็ตาม คนที่แนะนำผมนั้น ยังไม่ใช่ "หมอฟัน" หรือคนที่เป็นมือใหม่อย่างในทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์

ทฤษฎีที่สองผมขอเรียกว่า ทฤษฎี "ปลาใหญ่-ปลาเล็ก" นี่เป็นทฤษฎีของใครผมไม่ค่อยแน่ใจ แต่ถ้าจำไม่ผิด คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยพูดไว้ เขาพูดว่าการเล่นหุ้นในตลาดนั้น บางทีก็เหมือนกับการหากินของฝูงปลา ที่มักไปกันเป็นฝูง นั่นคือ ปลาตัวใหญ่จะว่ายนำ ส่วนปลาตัวเล็กจะว่ายตาม ในยามที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ปลาทุกตัวต่างก็อิ่มหมีพีมันกันหมด แต่เมื่ออาหารร่อยหรอไปจนหมด สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ปลาใหญ่ก็จะหันกลับมากินปลาเล็กเป็นอาหารแทน

เปรียบไปก็เหมือนกับการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ "ขาใหญ่" หรือนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดนั้น ในยามที่ภาวะตลาดดี พวกเขาก็มักจะเป็นผู้ "ซื้อนำ" ในหุ้นบางตัวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเก็งกำไร เช่น กำลังมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม มีข่าวน่าตื่นเต้น และเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็ก หรือไม่ใหญ่เกินไป เป็นต้น การซื้อนำพร้อมๆ กับการกระจายข่าวออกไปในตลาดนั้น ทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากแห่ซื้อตาม ผลก็คือ ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น คนที่เข้ามาลงทุนเกือบทุกคนต่างก็ "อิ่ม" หรือได้กำไรกันหมด ทุกคนมีความสุข

พอถึงจุดที่ตลาดตกต่ำหรือหุ้นที่ถูกนำมาเล่นตกลงมาอย่างแรง เนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม รายย่อยต่างก็ขาดทุนกันจำนวนมาก แต่รายใหญ่ซึ่งเป็นคนซื้อนำนั้น มักจะขายหุ้นทำกำไรไปก่อนแล้ว นี่เท่ากับว่า ในท้ายที่สุด นักลงทุนรายใหญ่ก็ "กิน" นักลงทุนรายย่อยหลายๆ คนที่ "หนี" หรือขายหุ้นไม่ทันก่อนที่มันจะตกลงมา

ถ้าถามว่าผมเชื่อในทฤษฎีทั้งสองหรือไม่ คำตอบ ก็คือ ผมคิดว่ามันมีส่วนที่เป็นจริงอยู่พอสมควรทีเดียว แต่ถ้าถามว่าผมจะมีปฏิกิริยาอย่างไรคำตอบสำหรับทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์ ก็เช่นเดียวกับความคิดของตัว ปีเตอร์ ลินช์ เอง นั่นก็คือ ผมไม่สนใจเรื่องภาวะตลาดหุ้น ผมคิดว่าหากหุ้นที่ผมถือนั้นเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม มันก็มักดูแลตัวมันเองได้ไม่ว่าในภาวะตลาดไหน ส่วนในทฤษฎีที่สองนั้น ผมก็ต้องสร้าง "วินัย" ให้กับตัวเองว่า เราจะไม่เป็น "ปลาเล็ก" จริงอยู่ เราอาจจะ "อิ่มท้อง" หรือทำกำไรได้ง่ายๆ จากการ "หากิน" หรือซื้อหุ้นตาม "ปลาใหญ่" หรือรายใหญ่ที่กำลัง "โปรโมท" หุ้น เพราะผมคิดว่าการทำแบบนี้มีความเสี่ยงพอสมควร และถ้ามันเกิดขึ้น คุณก็จะกลายเป็น "อาหาร" นั่นก็คือ เสียหายหนักจากการลงทุนได้

*************************
ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอบคุณแหล่งข้อมูลครับ

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กฏทองคำ 10 ข้อของเทรดเดอร์

โดยคุณ Adam Hewison ซึ่งเป็นเซียน forex trader ,ผู้จัดการ hedge fund และเป็นที่ปรึกษาการเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหาร INO.com เว็บไซต์ลงทุน futures และ Option แบบออนไลน์ในหลายประเทศทั่วโลก

1. A game plan
ถ้าจะเทรดให้สำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องวางแผน วางเงื่อนไขการซื้อขาย ที่ชัดเจน ไม่ผันผวนไปตามอารมณ์ หรือเล่นตามใจตัวเอง รวมไปถึงขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเราผิดพลาด ขาดทุนหรือเกิดเหตุการณ์ร้าย ที่ไม่คาดฝัน

2. Follow the game plan
เมื่อมีแผน ก็ต้องควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามแผนให้ได้ ปราศจากอคติ และการถูกครอบงำทางอารมณ์จากภาวะแวดล้อม จากคนรอบข้าง หลายคนวางแผนมาอย่างดี พอเข้าสู่การเทรดจริงในตลาดเกิดลังเล ถูกครอบงำด้วยอารมณ์โลภ กลัว ทำให้ละเลยไม่ปฏิบัติตามแผน สุดท้ายก็ผิดพลาดขาดทุน

3. Stop loss
เทรดหุ้นต้องมี stoploss มีการวางแผนป้องกันการขาดทุน เราควรคิดถึง จุดตัดขาดทุนที่เหมาะสมกับหน้าตักเงินของเรา และคำนวณราคาที่ต้อง stoploss ให้แน่นอน และเด็ดขาดเมื่อต้องตัดสินใจหยุดการขาดทุน

4. Diversification
กระจายการถือครองหุุ้น เป็นการถือหุ้นต่างกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อกระจายความสี่ยงจากตลาดและลดความรุนแรงจากการเกิดปัญหาจากปัจจัยภายในและภายนอกที่มากระทบตัวหุ้น แต่การกระจายการถือครองหุ้นควรมีปริมาณหุ้นที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไปจนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

5. Capture the big moves
มองหาจังหวะการเทรดหุ้น ตามแนวโน้มใหญ่ ที่สามารถทำกำไรได้มากพอสมควร ซื้อหุ้นในจังหวะเริ่มต้นแนวโน้มและปล่อยให้ Profit Run ตามกระแสเงิน พยายามอย่าเล่นหุ้นในแนวโน้มย่อยมากที่มีกำไรเพียงไม่กี่ % เพราะโอกาสในการพลาดบนแนวโน้มย่อยที่มีการแกว่งตัวและมีความไม่แน่นอนของแนวโน้มจะมีสูง

6. Trade with the Trend
เล่นหุ้นหรือเทรดอนุพันธ์ตามแนวโน้มของราคา ไม่ควรเล่นฟื้นแนวโน้มของราคา เช่นเมื่อแนวโน้มหุ้นขึ้นควรเล่นด้าน Long และเมื่อหุ้นลงควรเล่น Short พยายามลดการทำกำไร จากการย่อตัวหรือเด้งระยะสั้น ที่สวนแนวโน้มหลัก

7. Not listen to News
อย่าเล่นหุ้นตามข่าว หรือฟังข่าวและเอามาตัดสินใจซื้อขายหุ้น ถ้าเก็งกำไรควรเน้นที่การดู ราคาหุ้น ซึ่งจะสะท้อนเอาทุกอย่างไว้หมดแล้ว บางกรณีมีสัญญาณขาย ราคาหุ้นลดลงรวดเร็วแต่ข่าวดียังออกมาต่อเนื่อง ถ้าเรายึดมั่นกับข่าว ฟังข่าวมากไป ก็จะทำให้สับสนและไขว้เขวจากระบบ ถ้าจะสนใจควรติดตามแต่ข่าวที่เป็นจริง ไม่ควรสนใจข่าวลือ ข่าววงใน และควรติดตามเพื่อรับทราบเป็นข้อมูล แต่ไม่ควรใช้เพื่อตัดสินใจนำการเทรด

8. Don't listen to your broker
อย่าเชื่อโบรกเกอร์ มากเกินไปเพราะ โบรกเกอร์เองก็มีผลประโยชน์จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นของเรา บางครั้งการเทรดมากเกินไป ก็ไม่เป็นผลดีต่อกำไรรวมระยะยาว ควรเทรดหุ้นตามระบบ ทำการบ้านศึกษาหุ้นให้หนัก เทรดตามสัญญาณซื้อขายที่ปรากฏ ตามแผนที่เราวางไว้ดีที่สุด

9. Money Management
การบริหารจัดการเงิน นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะช่วยในการทำกำไรและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว นักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่พวกที่บ้าเลือด ชอบเสี่ยงสุดๆแบบหมดตัว นักเก็งกำไรที่จะประสบความสำเร็จ ต้องรู้จักบริหารจัดการเงินลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างกำไรได้ต่อเนื่องและมีความเสี่ยงที่ ไม่มากจนทำให้เกิดการล้มละลายหมดตัวได้

10. Discipline
การมีวินัย ซึ่งเป็น key successful สำคัญในการเทรดหุ้นและการเก็งกำไร เราควรมีวินัยในแผนการเล่น มีวินัยทำตามระบบเทรด การมีวินัยก็เป็นอีกรูปแบบของการควบคุม อารมณ์ ไม่ปล่อยให้อารมณ์มาชี้นำการเทรดของเรา นั้นเอง

จบสิบข้อสั้นๆ เข้าใจง่าย แค่ทำยาก ถ้าอยากสำเร็จเราต้องใช้การฝึกฝน ฝึกฝนจิตใจเราให้หนักแน่นกล้าแข็ง เพราะคนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จิตใจ ของเค้าต้องมั่นคงและยึกมั่นในระบบเทรดที่ตนเองพัฒนาขึ้น ไม่ปล่อยให้อารมณ์มาชี้นำการตัดสินใจ สำคัญท่านที่สนใจฟังการบรรยายของ Adam Hewison สามารถเข้าไปที่

CR:Adam Hewison
CR:แชร์มาจากFacebook



วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อยู่กับหุ้น 100% : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตั้งแต่ปี 2539 ผมได้ลงทุนเงินทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในหุ้น ในช่วงแรกๆนั้น แน่นอน ผมต้องเก็บเงินสดไว้จำนวนหนึ่งเป็นสภาพคล่องสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินจำนวนนั้นถ้าคิดคำนวณก็อาจจะประมาณเท่ากับ 10% ของเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เงินอีก 90% ผมลงในหุ้นทั้งหมด

เหตุผลที่ผมลงทุนในหุ้นนั้น เป็นเพราะผมเห็นว่า หุ้นที่ผมลงทุนนั้นเป็นบริษัทที่มั่นคง มีกำไรที่สม่ำเสมอ มีปันผลที่ค่อนข้างแน่นอนประมาณไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผมลงเพราะผมเห็นว่า หุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ผมจะทำได้

ผมไม่คิดว่าผมรับความเสี่ยงมากเกินไป เพราะผมถือหุ้นต่างๆเกือบสิบบริษัท ถ้าบริษัทหนึ่งมีปัญหา บริษัทอื่นก็ยังดีอยู่และทำผลตอบแทนชดเชยได้

ผ่านมาประมาณ 14 ปี ผมก็ยังคงถือเงินสดเป็นสภาพคล่องประมาณเท่าเดิม แต่เนื่องจากเงินลงทุนในหุ้นของผมเติบโตขึ้นมาก เงินสภาพคล่องที่เคยเป็น 10% ของพอร์ต ตอนนี้จึงเป็นเพียง 1% ของเงินทั้งหมด การถือหุ้น ?ร้อยเปอร์เซ็นต์? ของผม ?ตลอดเวลา? เป็นเวลา 14 ปีนั้น ได้ผ่านเหตุการณ์ ?เลวร้าย? ต่างๆ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร การถล่มทลายของตึกเวิร์ลเทรดจากการก่อการร้าย การประกาศควบคุมเงินทุนไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย และเหตุการณ์ร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งนั่นก็เป็นการพิสูจน์ว่า การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น ไม่ได้อิงหรือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและก็จะจบลงไปในระยะเวลาไม่นาน

การถือหุ้น 100% นั้น นักวิชาการต่างก็พูดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีอายุมาก ที่จะไม่สามารถรับได้หากเกิดการขาดทุนและตนเองไม่สามารถทำงานหาเงินมาชดเชยได้ การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น อาจจะเหมาะก็เฉพาะคนที่ยังเป็นหนุ่มสาวที่รับความเสี่ยงได้มากเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีเหตุผลที่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์แม้ว่าอายุกำลังใกล้เกษียณ เหตุผลของการถือหุ้น 100% นั้นมีมากมาย

ข้อแรก หุ้นนั้น ในระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดีและน่าจะดีที่สุดในบรรดาการลงทุนในตราสารการเงิน จากสถิติทั้งในและต่างประเทศพบว่า หุ้นให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 8-10% ซึ่งสูงกว่าเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 3-5% เท่านั้น และคำว่าระยะยาวนั้น น่าจะมีความหมายว่าประมาณ 10-20 ปี ดังนั้น สำหรับผมซึ่งอายุยังไม่ถึง 60 ปี และคิดว่าตนเองน่าจะอยู่ได้ถึง 80 ปี ซึ่งจะทำให้ผมมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ผมจึงเห็นว่าการลงทุนในหุ้นทั้งหมดน่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุด

ข้อสอง ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป จนผมมีอายุ 70 ปี ถ้าผมยังมีความสามารถในการวิเคราะห์พิจารณาอยู่ ผมเองก็จะยังคงลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี เหตุผลก็คือ เงินของผมที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น มันมีอยู่มากเกินพอที่ผมไม่สามารถใช้ได้หมดอยู่แล้ว เงินส่วนใหญ่นั้นคงจะส่งผ่านต่อไปที่ลูก ดังนั้น สิ่งที่ต้องดูจริงๆก็คือ อายุของลูกไม่ใช่อายุของผม และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ควรลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ ผมไม่มีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่พอใช้จ่ายในยามที่มีอายุมากขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเป็นเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนน้อยนิดแต่อย่างใด

ข้อสาม ถ้าไม่มองในด้านของอายุหรือระยะเวลาในการลงทุน แต่ดูที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันก็จะพบว่า มันต่ำมากจนไม่คุ้มกับอัตราเงินเฟ้อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% ต่อปีนั้น ยิ่งเราเก็บไว้นานเราก็ยิ่ง ?ขาดทุน? ตรงกันข้าม ถ้าเราลงทุนในหุ้นด้วยการเลือกหาหุ้นที่ดีในราคาที่ต่ำหรือราคายุติธรรม เราก็อาจจะสามารถทำเงินเพิ่มเป็นเท่าตัวได้ในระยะเวลาอาจจะไม่เกิน 5-6 ปี หรือถ้าพลาด ราคาหุ้นไม่เพิ่มเลยในช่วงเวลาหลายปี แต่ปันผลที่ได้ในแต่ละปีที่ประมาณ 3-4% ก็ยังคุ้มค่ากว่าการฝากเงินอยู่ดี ดังนั้น การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่มีข้อดีและควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่เป็น Value Investor ผู้มุ่งมั่น

เหตุผลข้อสุดท้ายของการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่ว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้เรา ?รวย? ได้ โดยที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่เหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีเวลาลงทุนที่ยาวนาน เช่น คนหนุ่มสาวทั้งหลาย ว่าที่จริง คนที่อายุยังไม่ครบ 30 ปี และมีเงินเดือนหรือรายได้ในระดับคนชั้นกลางที่ไม่มีภาระมากเกินไป และมีความมุ่งมั่นในการลงทุนเต็มเปี่ยมนั้น น่าจะสามารถรวยในระดับร้อยล้านบาทก่อนที่จะตายได้ไม่ยาก หลักการใหญ่ก็คือ เขาจะต้องลงทุนถือหุ้นชั้นนำไม่น้อยกว่า 5-6 ตัว และไม่ควรเกิน 10 ตัว ด้วยเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น หลายคนอาจจะไม่แน่ใจ เพราะดูเหมือนมันจะ ?ง่ายเกินไป? ความเสี่ยงดูเหมือนจะ ?น้อยเกินไป? ถ้ามันดีอย่างนั้นทำไมคนจึงไม่ทำกันหมด เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถตอบได้ในเวลาอันน้อยนิด ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า พอร์ตหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นก็เปิดเผย เขาถือหุ้นเหล่านั้นในระยะยาวมาก พอร์ตหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อย แล้วเขาก็รวย คำถามก็คือ ทำไมคนจึงไม่ถือหุ้นเหล่านั้นตามบัฟเฟตต์?

เรื่องของการรวยจากการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ว่าที่จริงผมได้พบ Value Investor ผู้มุ่งมั่นหลายคนทีเดียวที่ทำได้สำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐีด้วยเวลาที่สั้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ คนเหล่านั้นค้นพบ ?ขุมทอง? ในตลาดหุ้นและขุดมันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายคนยังไม่เชื่อว่ามีขุมทองจริง ประเด็นก็คือ เขายังไม่ได้ลองเข้ามาสำรวจ ยังไม่ได้ลงมือจับจอบเสียมและ ?ขุด? พื้นดินจริงๆ ความหมายของผมก็คือ ถ้าคุณหวังจะรวยจากตลาดหุ้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ลงทุนซื้อหุ้นในวิธีที่ถูกต้อง ไม่มีทางอื่น เริ่มเดี๋ยวนี้

*********************

อยู่กับหุ้น 100%
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มา http://www.sarut-homesite.net/2010/0...%8C-%E0%B9%80/

ขอบคุณแหล่งข้อมูลครับ

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุมมองของ ‘พิชัย จาวลา’

ตลาดหุ้นภายใต้กลไกตลาดเสรี แท้จริงไม่เสรีอย่างในทฤษฎี ถ้าเราอยู่ฝั่งคนส่วนใหญ่ผลลัพธ์มักลงเอยอย่าง ผู้แพ้
พิชัย จาวลา นักคิดผู้กล้าเสนอความจริงที่แตกต่าง
พิชัย จาวลา”… ชื่อนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงตลาดหุ้น เขาไม่ใช่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหรือมีพอร์ตลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท แต่พิชัยเป็น นักคิดที่กล้านำเสนอความจริงที่แตกต่าง แตกสัจธรรมเพื่อค้นหาเหตุแห่งสัจธรรม เหรียญยังมีสองด้านฉันใด..ความจริงที่เรามองเห็นอาจไม่ใช่ความเที่ยงแท้เสมอไป
เศรษฐศาสตร์แห่งความจริงหนังสือที่ไม่ได้ทำยอดขายติดอันดับ เบสเซลเลอร์บนแผงหนังสือ และค่อนข้างอ่านยากสำหรับหลายคน แต่เป็นผลงานที่เปิดให้เห็นตัวตนของ พิชัย จาวลา กรรมการบริหาร กลุ่มจาวลากรุ๊ป นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 42 ปี ที่มีฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
พิชัยยังมีบทบาทเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีพอร์ตลงทุนในระดับ 10-20 ล้านบาท เขาใช้เวลานอกกว่า 20 ปี เฝ้าติดตามความเป็นไปของตลาดหุ้น ค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในด้านตรงข้ามของเหรียญ ความจริงที่คนส่วนใหญ่ก็รู้แต่มีเพียงคนส่วนน้อยที่ยอมรับและปฏิบัติ !!!
จากการคาดการณ์ของคุณพิชัยต่อตลาดหุ้นที่ผ่านๆมา พอจะสรุปได้ว่า การคาดการณ์ของคุณพิชัยในระดับวงจรหรือในระดับกรอบใหญ่ มีความถูกต้องแม่นยำค่อนข้างมาก แต่ในระดับรายละเอียด บางครั้งจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดการณ์ มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณีไปคำวิจารณ์ของคนที่เฝ้าติดตามผลงานของพิชัย โพสต์ไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง
เนื้อหาในหนังสือเศรษฐศาสตร์แห่งความจริงฉบับตีพิมพ์ ครั้งที่สามเดือนสิงหาคมปี 2550 พิชัยทำนายว่า SET Index ในปีถัดไป (2551) จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 900 จุด ก่อนจะปรับตัวลงแตะระดับบวกลบ 450 จุด เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ทำไม! ตลาดหุ้นไทยถึงเป็น หลุมฝังศพรายย่อยรุ่นแล้วรุ่นเล่า บทสรุปหนึ่งก็คือ ตลาดหุ้นไม่ ใช่ Fair Game ไม่ใช่เกมที่แฟร์สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ใครก็มาตักตวงได้ง่าย
หมูสนามส่วนใหญ่แท้จริงก็เป็น เซียนในอาชีพของตัวเองกันมาทั้งนั้น
ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่และไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น แค่อยากจะถ่ายทอดแนวคิดส่วนตัวให้ฟังพิชัยบอกผ่านกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อไม่ว่ากัน
พิชัยเล่าว่า อาชีพหลักของตนเองทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มูลค่าโครงการตั้งแต่ 30 ล้านบาทถึง 260 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2532 แต่ ผล คือไม่ประสบความสำเร็จเพราะไปเล่นหุ้นตามข่าวเลยต้องย้อนกลับมาหา เหตุว่าทำไมถึงขาดทุน
ผมสังเกตว่าทำไมคนเก่งๆ การศึกษาดีหลายคน ถึงไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ทำไมนักลงทุน 100 คนจะได้กำไรจากหุ้นแค่ไม่กี่คน ที่สุดก็ได้ข้อสังเกตว่า ผู้ชนะในตลาดหุ้นจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเหมือนกับทฤษฎี 80:20 ที่บอกว่าคนส่วนน้อยเพียง 20% จะเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ 80% เสมอ
การนั่งถอดความคิดทีละเปลาะเป็นที่มาของ ทฤษฎีผลประโยชน์ที่พิชัยคิดขึ้น หลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจาก ข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด สองชั้นคือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง ตรงข้าม
หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ มองตลาดหุ้น ขึ้น/ลง ตาม เหตุผลแท้ที่จริงแล้ว เหตุผลเป็นเพียง ข้ออ้างถ้าสังเกตให้ดี เหตุผลต่างๆของนักวิเคราะห์จะตามมาหลังจากหุ้นขึ้นหรือลงไปแล้วระยะหนึ่ง ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน พิชัยยกตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น แบล็กมันเดย์ปี 2530 หรือ แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิสปี 2551 นักลงทุนต่างแห่กันเทขายหุ้นเพราะกังวลกับ ข่าวร้ายแต่ไม่เคยมีคนมองอีกด้านว่ามีคนอีกกลุ่มเขากำลังทำในสิ่งตรงข้ามกันคือ ซื้อหุ้นที่คนส่วนใหญ่ยอมขายขาดทุน (หนีตาย)
ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ ในที่สุดจะได้กำไร และคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน
นักคิดแห่งล้านนา ยกตัวอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จอร์จ โซรอส เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีการ เทขายเงินบาทอย่างหนัก แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายเข้าไปซื้อเงินบาทไว้ก่อนแล้ว หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ (ในกลุ่ม ปตท.) เมื่อปลายปี 2551 ขาดทุน Stock Loss หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้หรอกหรือ ถึงขาดทุน
นี่ไม่ใช่ทฤษฎีผู้มีอำนาจคุมตลาด (Big Brother) แต่เป็น ความจริงอยู่ในมุมเล็กๆของกลไกตลาด ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ถ้าคิดจะทำกำไรในตลาดหุ้น คุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่
พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส
บทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัว และจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม คำพูดนี้คือ สัจธรรมในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจงเป็น คนส่วนน้อยเพื่อจะเป็น ผู้ชนะในตอนจบ
ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุม..พิชัย จาวลา
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552



วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พอร์ตลงทุนเปลี่ยนจากพันธบัตรมุ่งตลาดหุ้น

พอร์ตลงทุนเปลี่ยนจากพันธบัตรมุ่งตลาดหุ้น

พอร์ตลงทุนเปลี่ยนจากพันธบัตรมุ่งตลาดหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย

การจัดสรรพอร์ตทางยุทธศาสตร์กลับมายังหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในแนวโน้มการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้

แต่ทฤษฎีดังกล่าวถูกท้าทาย ทั้งจากภาวะขาลงของตลาดสหรัฐตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เกริ่นถึงความเป็นไปได้ที่จะลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้ามาถือหุ้นเพิ่มขึ้น

ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันต่างชี้ว่าเงินทุนที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นอยู่ในขณะนี้มาจากตลาดเงิน ไม่ใช่มาจากรายได้ประจำของนักลงทุน

สถิติล่าสุดของเฟดอาจเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นแรกที่สะท้อนว่าการไหลของเงินทุนจากตลาดพันธบัตรเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างมีนัยยะจากกองทุนบำเหน็จบำนาญสหรัฐ เริ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญสหรัฐและบริษัทประกัน ได้ซื้อหุ้นเป็นมูลค่าสุทธิ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และขายพันธบัตรเป็นมูลค่าสุทธิ 1 หมื่นล้านดอลลาร์

เจพี มอร์แกน ชี้ว่าแม้การไหลของเงินทุนอาจจะคิดเป็นเพียงมูลค่าเล็กน้อย แต่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือตราสารทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญสหรัฐและบริษัทประกันเป็น 45% ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2550

นายแกรนต์ เบาวเวอร์ส ผู้จัดการพอร์ตจากแฟรงคลิน อิควิตี กรุ๊ป กล่าวว่า นักลงทุนกำลังมองเห็นมูลค่าตอบแทนที่สูงกว่าในการลงทุนในตราสารทุน แต่การโยกเงินลงทุนจากอีกตลาดหนึ่งสู่ตลาดหนึ่ง เป็นสิ่งที่จะดำเนินไปในช่วง 5-10 ปี ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงข้ามคืน โดยแม้ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก แต่ผลตอบแทนสุทธิจากตราสารทุนก็ยังสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่าดัชนีตราสารทุน MSCI ปรับตัวสูงขึ้่น 8% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดลง 2.2% และผลตอบแทนหุ้นกู้บริษัทลดลง 1%

ขณะที่ข้อมูลจากแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ เผยว่าเงินทุนไหลออกจากพันธบัตร 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าการไหลออกที่มากที่สุดเป็นอันดับสองตั้งแต่เก็บสถิติมา ส่วนเงินทุนไหลออกจากตราสารทุนนั้นมีเพียง 8.5 พันล้านดอลลาร์

กระนั้น กองทุนบำเหน็จบำนาญและบริษัทประกันก็กำลังเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การลงทุน หลังจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรเพื่อลดความเสี่ยงจากวิกฤติการเงินโลก
ความเคลื่อนไหวจากนักลงทุนระดับสถาบันรายใหญ่ของโลก ทำให้มีการพูดกันมากถึงการถอนเงินทุนออกจากตลาดพันธบัตร

กองทุนความมั่งคั่งแห่งนอร์เวย์ ซึ่งปกติเป็นผู้ซื้อพันธบัตรรายใหญ่ แบ่งสัดส่วนพอร์ตการลงทุน 62.4% ไว้ในหุ้นซึ่งเป็นสัดส่วนที่เกือบจะสูงที่สุดของกองทุนดังกล่าว ในขณะที่สัดส่วนการถือพันธบัตรลดลงมาอยู่ที่ 36.7% ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ในปลายเดือนมีนาคม

ทางด้านกองทุนกองทุนบำเหน็จบำนาญสาธารณะญี่ปุ่น ได้ประกาศเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าจะเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นเป็น 12% จาก 11% ในขณะที่จะลดสัดส่วนการถือพันธบัตรรัฐบาลจาก 67% มาอยู่ที่ 60%


ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

11ขั้นตอนของการใช้เทคนิดที่แมงยุ่ยควรรู้


1. ตามแนวโน้ม
ศึกษากราฟระยะยาว เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ กราฟ รายเดือน และรายสัปดาห์ ด้วยการดูย้อนหลังหลายปี ด้วยการทำแบบนี้ จะทำให้มีมุมมอง ระยะยาว ต่อตลาดได้ดีขึ้น
ขณะที่ศึกษา กราฟระยะยาว จบแล้ว ควรศึกษา กราฟรายวัน และ กราฟ เทรดภายในวัน(120,90,45นาที)
การดูกราฟระยะสั้นเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดได้ แม้ว่าคุณจะทำการซื้อขาย ในระยะที่สั้นมากๆก็ตาม
คุณจะซื้อขายหุ้นได้กำไรมากขึ้น ถ้าคุณซื้อขายในทิศทางเดียวกับ แนวโน้มระยะกลางและระยะยาว

2. พุ่งเป้าไปที่แนวโน้ม และ ไปกับมัน
ตัดสินแนวโน้มและ ซื้อขายตามแนวโน้มตลาด แนวโน้มตลาดแบ่งเป็น สามรูปแบบคือ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
เริ่มแรก ควรที่จะใช้กราฟก่อนที่จะเทรด คุณต้องแน่ใจก่อนว่า คุณทำตามทิศทางเดียวกับในแนวโน้มตลาด ซื้อ เมื่อ แนวโน้มขึ้น และ ขายเมื่อแนวโน้มลง
ถ้าคุณ เทรดในระยะกลาง ควรใช้กราฟ วัน และรายสัปดาห์
ถ้าคุณ เดย์เทรด ควรใช้กราฟ วัน และกราฟการซื้อขายภายในวัน(นาที)
แต่ในแต่ละกรณี ควรใช้กราฟระยะยาวตัดสินแนวโน้ม และใช้ กราฟระยะสั้น ตัดสิน ช่วงจังหวะเวลาซื้อขาย

3. หาจุดต่ำสุดและสูงสุดของมัน, หาระดับแนวต้านและแนวรับ
ตำแหน่งที่ดีสำหรับการซื้อคือซื้อไกล้กับ แนวรับ โดยที่ แนวรับนั้น ไกล้เคียงกับ จุดต่ำสุดของเดิม
ตำแหน่งที่ดีสำหรับการขายคือ ไกล้เคียงกับแนวต้าน (ตีความได้ว่าไม่ใช่แนวต้านพอดี) แนวต้านปรกติแล้วคือจุดสูงสุดเดิม
หลังจากผ่านแนวต้านไปได้ จะทำให้เกิดแนวรับใหม่ตรงจุดที่ผ่านไป หรือจะพูด อีกอย่างหนึ่งได้ว่า ราคาตรงแนวต้านที่ผ่านไป จะเป็นราคาต่ำสุดใหม่ (แนวรับในอนาคต)
ในอีกขณะที่ เมื่อแนวรับถูกทำลาย ราคาตรงตรงนั้นจะกลายเป็น จุดสูงสุดใหม่(แนวต้านในอนาคต)

4. เราจะมองย้อนหลังกลับไปอย่างไร
 เราจะใช้การวัดเปอร์เซนต์ Retracements
 การที่ตลาดขึ้นหรือลง โดยปรกติจะเป็นสัดส่วนจาก แนวโน้มเดิม

กรุณาดูรูป retracements
ขยายความ;
แนวโน้มเดิม คือ ลง ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแนวโน้ม กลับตัวเป็นขึ้น เราสามารถ คาดการณ์ แนวต้าน 23.6 38.2% 50% 61.8% 100%
 ในกรณีนี้ รีบาว ที่ระดับ 23.6% (คำแนะนำทางทฤษฏี) คุณสามารถวัด การเปลี่ยนแปลงได้จาก แนวโน้มที่เป็นอยู่ ใน รูปแบบของ % ง่ายๆ  50% retracements ในแนวโน้มหลัก ถือเป็นระดับปรกติ
ระดับน้อยที่สุด คือ 1 ใน สามของแนวโน้มหลัก
ระดับมากที่สุดคือ 2 ใน 3 ของแนวโน้มหลัก
 Retracements แบบ Fibonacci ระดับ 38% และ 62% ก็น่าสนใจ ขณะที่เปลี่ยนเป็นแนวขึ้น จุดซื้อควรเป็นระดับที่ 33-38%

5.ลากเส้น
วาดเส้นแนวโน้ม เส้นแนวโน้ม เป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดและมี ประสิทธิภาพที่สุดในเครื่องมือแบบกราฟ สิ่งที่คุณต้องการคือ
เส้น ตรง 1 เส้น และ จุดสองจุดบน กราฟ เส้นแนวโน้มขึ้นลากจาก จุดต่ำสุด 2 จุด
เส้นแนวโน้มลง ลากจุดจุดสูงสุด 2 จุด ราคา มักจะถูกดึงกลับไปตามแนวโน้ม ก่อนที่จะไปตามแนวโน้มต่อไป
โดยการขึ้นลงผ่านเส้นแนวโน้มนั้นปรกติจะถือว่า เป็นการเปลี่นแนวโน้ม เส้นแนวโน้มที่ใช้ได้มักจะถูกทดสอบอย่างน้อยสามครั้ง
เส้นแนวโน้มระยะยาว จะมีประสิทธิภาพมาก และ ยิ่งจำนวนครั้งที่ ถูกทดสอบมีมากเท่าไหร่ ความสำคัญก็จะยิ่งมีมากขึ้น

6. ตามค่าเฉลี่ย
ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่จะให้ สัญญาณเป้าหมาย ซื้อและขาย ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่จะบอกคุณว่า แนวโน้มยัง อยู่ ในแนวโน้มเดิม และช่วยในการทำให้แน่ใจ ถึงการเปลี่ยนแนวโน้ม
แม้ว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่จะไม่สามารถบอกคุณถึงอนาคตล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแนวโน้มตามค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
การผสมผสานของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ สองค่า เป็นวิธีการ ที่เป็นที่นิยมมาก สำหรับใช้หา สัญญาณ ซื้อและสัญญาณขาย
การผสมผสานสัญญาณซื้อขายที่เป็นที่นิยมกันคือ 5 กับ 10 วัน , 10 กับ 25 วัน , 5 และ 25 วัน จะให้สัญญาณเมื่อ เส้นค่าเฉลี่ย ระยะสั้นตัด ค่าเฉลี่ยระยะยาวกว่า

ตัวอย่างเช่น
ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 5 วัน(ระยะสั้น) ตัด เส้น ค่าเฉลี่ย 10 วัน (ระยะยาวกว่า)ขึ้น หมายถึงสัญญาณซื้อ
เมื่อราคาตัดสูงขึ้น(สัญญาณซื้อ)หรือต่ำกว่า(สัญญาณขาย)ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 40 วัน(แท่ง) ถือว่า เป็นสัญญาณซื้อขายที่ดี
โดย ที่ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ จะ เป็นตัวชี้การเป็นไปตามแนวโน้ม, ซึ่งวิธีการใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เหล่านี้จะดีที่สุดใน ตลาดที่มีแนวโน้มอย่างชัดเจน

7. เรียนรู้การเปลี่ยนแนวโน้ม
ตรวจดูเครื่องมือ oscillators ต่างๆ เครื่องมือ oscillators นั้นช่วยในการหา ตลาดที่เกิดภาวะซื้อมากเกินไป และ ตลาดที่เกิดภาวะขายมากเกินไป ขณะที่ ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ให้ความแน่ใจในการเปลี่ยนแนวโน้มตลาด
เครื่อง มือ oscillators จะเป็นตัวบอกว่าตลาดจะ ขึ้นหรือลง มากขึ้น หรือ จะกลับตัวในไม่ช้า ที่เป็นที่นิยมมากคือ Relative Strength Index (RSI) and Stochastics ทั้งสองค่านี้เป็นที่นิยมใช้ในสเกล 0 ถึง 100

ค่า RSI ที่มีค่ามากกว่า 70 ถือว่าเป็นภาวะที่ซื้อมากเกินไป ขณะที่ ถ้าอ่านค่าได้ต่ำกว่า 30 ถือเป็นภาวะที่ขายมากเกินไป
การซื้อหรือขายมากเกินไป สำหรับ Stochastics คือ 80 และ 20

ผู้เล่นหุ้นส่วนใหญ่นิยมใช้ค่า 14 วัน หรือ สัปดาห์ สำหรับ stochastics และ 9 หรือ 14 วัน หรือ สัปดาห์ สำหรับ RSI
เมื่อตัว Oscillator เกิด divergences บ่อยครั้งที่จะแสดงถึงการเปลี่ยนแนวโน้ม เครื่องมือต่างๆเหล่านี้ ใช้ได้ดีสุดในตลาดที่ไม่มีแนวโน้ม สัญญาณรายสัปดาห์ จะใช้ กรอง สัญญาณ รายวัน สัญญาณรายวัน สามารถใช้ในการกรองสัญญาณ ภายในระหว่างวัน

8. เรียนรู้ สัญญาณเตือน
Moving Average Convergence Divergence (MACD) เป็นการรวมระบบ การตัดกันของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ด้วย การวัด ระดับ ภาวะ ซื้อเกินไป และขายเกินไปด้วย สัญญาณ ซื้อจะเกิดขึ้นเมื่อ สัญญาณที่เร็วกว่าตัดสัญญาณที่ช้ากว่า และ เส้นทั้งสองเส้นต่ำกว่า 0
สัญญาณขายคือ สัญญาณที่ช้ากว่าตัดสัญญาณที่เร็วกว่า และ ค่าทั้งสองค่า มากกว่า 0 สัญญาณราย สัปดาห์ ถือว่ามีความสำคัญเหนือกว่า รายวัน
MACD histogram วาดความแตกต่างระหว่างสองเส้นและให้ การเตือนก่อนถึงการเปลี่ยนแนวโน้ม มันถูกเรียกว่า histogram เนื่องจาก ระดับความสูงของแท่ง แสดงถึงความแตกต่างระหว่างสองเส้นบนกราฟ

9 มีแนวโน้ม หรือไม่มีแนวโน้ม
ใช้ ADX เส้น Average Directional Movement Index (ADX) ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า ตลาดในขณะนั้นมีแนวโน้ม หรือ ไม่มีแนวโน้ม มันวัดถึงระดับการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มและ ทิศทางของตลาด
การเพิ่มขึ้นของเส้น ADX แนะนำถึง การมีแนวโน้มที่มากขึ้น
การลดลงของ ADX แนะนำถึงการ ที่ตลาดไม่มีแนวโน้ม
การเพิ่มของ ADX แสดงให้เห็นว่า ควรใช้ ค่า เฉลี่ยเคลื่อนที่เป็นตัวชี้วัด
การลดลงของ ADX แสดงให้เห็นว่า ควรใช้ค่า oscillators
ด้วยการ ลากทิศทางของเส้น ADX ผู้ซื้อ/ขาย สามารถตัดสินใจ ระหว่าง สไตล์ในการซื้อขาย และ อะไรเป็นตัวชี้วัดที่เหมาะสมที่สุด สำหรับภาวะในตลาดในขณะนั้น

10 เรียนรู้ถึง การสนับสนุนสัญญาณการซื้อขาย
สิ่งที่สนับสนุนสัญญาณการซื้อขายนั้นประกอบด้วย ปริมาณการซื้อขายรวม และ ปริมาณการซื้อขายขณะเปิดทำการ เป็นสิ่งที่ สนับสนุนสัญญาณ
การซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ปริมาณ การซื้อขายรวมมีความสำคัญมาก่อนราคา ปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น จะทำให้เชื่อได้ว่า ชักจูงสู่แนวโน้ม
ในขณะที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ปริมาณการซื้อขายรวมควรมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของปริมาณการซื้อขายขณะเปิด เป็นสิ่งที่สนับสนุนว่า เงินใหม่ได้เข้ามาสู่ ชักจูงเข้ามาสุ่แนวโน้ม การที่ปริมาณซื้อขายขณะเปิดลดลง บ่อยครั้งจะเป็นการเตือนว่า แนวโนมโน้มไกล้จบลง
ราคาที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นควรมีทั้ง ปริมาณการซื้อขายรวมที่มากขึ้น และ ปริมาณการซื้อขายขณะเปิดทำการ

11. การศึกษาทางเทคนิค
เป็นทักษะที่ทำให้ดีขึ้นด้วยประสบการณ์และการศึกษา ดังนั้นควรศึกษาและเรียนรู้ตลอดเวลา

ที่มา: http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=19627&page=1