ดร.นิเวศน์
เหมวชิรวรากร
ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินในสาขาการลงทุน
และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเงินต่างๆ มากมาย
ทฤษฎีเหล่านั้น แน่นอน
ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงโดยใช้ตัวเลขทางสถิติ
แต่พอมาเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักลงทุนจริงๆ ผมก็พบว่า ยังมีทฤษฎีอีกมากมาย
ที่มีการพูดกันโดยที่ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการใช้สถิติ
แต่เป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ของคนในวงการที่พูดแล้วมีคนเห็นด้วย
และเชื่อว่าน่าจะเป็นความจริง ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ
และอาจจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงนำเสนอทฤษฎีการลงทุนสักสองเรื่องดังต่อไปนี้
ทฤษฎีแรก คือ ทฤษฎี
"งานคอกเทล" ซึ่งเสนอโดย ปีเตอร์ ลินช์
ทฤษฎีนี้บอกว่าภาวะหรือดัชนีตลาดหุ้นนั้น
สามารถทำนายได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงแบบคอกเทลที่ตัวเขา
ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนรวมจะประสบ นั่นคือ
ในช่วงที่ 1
ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นได้ตกลงมาระยะหนึ่งแล้ว และไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะขึ้นมาได้อีก
คนในงานจะไม่มีใครพูดถึงตลาดหุ้น ที่จริงถ้าพวกเขารู้ว่าลินช์เป็น
"ผู้บริหารกองทุนรวม" พวกเขาก็จะพยักหน้าอย่างสุภาพแล้วก็จะรีบเดินจากไป
หรือไม่อย่างนั้น ก็จะเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็วไปเป็นเรื่องการแข่งฟุตบอล
หรือเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในไม่ช้าก็จะหันไปคุยกับหมอฟันเรื่องฟันผุมากกว่า
ถ้าลินช์เจอสถานการณ์แบบนี้ ที่คนยินดีที่จะพูดกับหมอฟันมากกว่าผู้จัดการกองทุน
เขาบอกว่าเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นกำลังจะขึ้นแล้ว เตรียมเก็บหุ้นได้
ช่วงที่ 2 เมื่อลินช์แนะนำตัวว่าทำมาหากินอะไรแล้ว คนหน้าใหม่จะอ้อยอิ่งอยู่กับเขานานขึ้นเล็กน้อย
บางทีอาจจะนานพอที่จะพูดกับเขาว่าหุ้นนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหนก่อนที่จะย้ายไปพูดคุยกับหมอฟัน
อย่างไรก็ตาม คนก็ยังอยากพูดคุยกับหมอฟันมากกว่า ?เซียนหุ้น?
ขณะนั้น หุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นมาแล้วจากช่วงที่หนึ่งประมาณ 15% แต่คนก็ยังไม่ค่อยใส่ใจ ช่วงนี้หุ้นก็น่าจะยังดีอยู่
ช่วงที่ 3 ขณะนี้ ดัชนีหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไป 30% แล้วจากช่วงที่หนึ่ง กลุ่มคนที่สนใจจะเลิกสนใจหมอฟันและหันมาล้อม
ปีเตอร์ ลินช์ คนแล้วคนเล่าจะพยายามดึงเขาออกมาอยู่ข้างๆ ห้อง
เพื่อที่จะคุยกับเขาเกี่ยวกับหุ้น แม้แต่หมอฟันก็ยังถามเขาว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน
ทุกคนในงานดูเหมือนจะได้ใช้เงินซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปแล้ว
และต่างก็สนทนากันว่าเกิดอะไรขึ้น
ช่วงที่ 4. นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ ปีเตอร์ ลินช์
จะถูกแขกในงานห้อมล้อม แต่ครั้งนี้
จะเป็นคนอื่นที่จะบอกกับลินช์ว่าหุ้นตัวไหนที่เขาควรซื้อ แม้แต่หมอฟันก็ยังมี
"หุ้นเด็ด" ให้เขา 3-4 ตัว และในเวลา 2-3 วันต่อมา
เมื่อเขาเปิดหนังสือพิมพ์ดูก็พบว่าหุ้นที่แนะนำทุกตัวนั้นขึ้นกันหมด
ลินช์บอกว่าเมื่อเพื่อนบ้านหรือคนในงานเลี้ยงบอกว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน
และเขาหวังว่าตนเองจะได้เชื่อคำแนะนำนั้น มันก็เป็นสัญญาณที่แน่ชัดว่า
ตลาดหุ้นได้ขึ้นไปถึงยอดดอยและพร้อมที่จะตกแล้ว
รีบขายหุ้นเสียถ้าคุณเป็นนักเล่นหุ้น
ถ้าถามว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเราในช่วงนี้เป็นอย่างไร
ผมวิเคราะห์โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุนมานาน
และมักได้สัมผัสกับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงที่สามช่วงท้ายๆ
นั่นก็คือ มีคนสนใจและถามเรื่องตลาดหุ้น และตัวหุ้นกับผมเป็นจำนวนมาก
บางคนก็เริ่มแนะนำหุ้นให้ผมและผมพบว่าหุ้นเหล่านั้นปรับตัวขึ้นเร็วมากและผมเสียดายที่ไม่ได้ซื้อไว้
ซึ่งนี่เป็นสัญญาณของช่วงที่สี่ อย่างไรก็ตาม คนที่แนะนำผมนั้น ยังไม่ใช่ "หมอฟัน"
หรือคนที่เป็นมือใหม่อย่างในทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์
ทฤษฎีที่สองผมขอเรียกว่า ทฤษฎี
"ปลาใหญ่-ปลาเล็ก" นี่เป็นทฤษฎีของใครผมไม่ค่อยแน่ใจ
แต่ถ้าจำไม่ผิด คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยพูดไว้
เขาพูดว่าการเล่นหุ้นในตลาดนั้น บางทีก็เหมือนกับการหากินของฝูงปลา
ที่มักไปกันเป็นฝูง นั่นคือ ปลาตัวใหญ่จะว่ายนำ ส่วนปลาตัวเล็กจะว่ายตาม
ในยามที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ปลาทุกตัวต่างก็อิ่มหมีพีมันกันหมด
แต่เมื่ออาหารร่อยหรอไปจนหมด สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ
ปลาใหญ่ก็จะหันกลับมากินปลาเล็กเป็นอาหารแทน
เปรียบไปก็เหมือนกับการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
"ขาใหญ่" หรือนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดนั้น ในยามที่ภาวะตลาดดี
พวกเขาก็มักจะเป็นผู้ "ซื้อนำ"
ในหุ้นบางตัวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเก็งกำไร เช่น
กำลังมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม มีข่าวน่าตื่นเต้น และเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็ก
หรือไม่ใหญ่เกินไป เป็นต้น การซื้อนำพร้อมๆ กับการกระจายข่าวออกไปในตลาดนั้น
ทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากแห่ซื้อตาม ผลก็คือ
ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น คนที่เข้ามาลงทุนเกือบทุกคนต่างก็
"อิ่ม" หรือได้กำไรกันหมด ทุกคนมีความสุข
พอถึงจุดที่ตลาดตกต่ำหรือหุ้นที่ถูกนำมาเล่นตกลงมาอย่างแรง
เนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม รายย่อยต่างก็ขาดทุนกันจำนวนมาก
แต่รายใหญ่ซึ่งเป็นคนซื้อนำนั้น มักจะขายหุ้นทำกำไรไปก่อนแล้ว นี่เท่ากับว่า
ในท้ายที่สุด นักลงทุนรายใหญ่ก็ "กิน" นักลงทุนรายย่อยหลายๆ คนที่
"หนี" หรือขายหุ้นไม่ทันก่อนที่มันจะตกลงมา
ถ้าถามว่าผมเชื่อในทฤษฎีทั้งสองหรือไม่ คำตอบ
ก็คือ ผมคิดว่ามันมีส่วนที่เป็นจริงอยู่พอสมควรทีเดียว
แต่ถ้าถามว่าผมจะมีปฏิกิริยาอย่างไรคำตอบสำหรับทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์
ก็เช่นเดียวกับความคิดของตัว ปีเตอร์ ลินช์ เอง นั่นก็คือ
ผมไม่สนใจเรื่องภาวะตลาดหุ้น ผมคิดว่าหากหุ้นที่ผมถือนั้นเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม
มันก็มักดูแลตัวมันเองได้ไม่ว่าในภาวะตลาดไหน ส่วนในทฤษฎีที่สองนั้น ผมก็ต้องสร้าง
"วินัย" ให้กับตัวเองว่า เราจะไม่เป็น "ปลาเล็ก" จริงอยู่
เราอาจจะ "อิ่มท้อง" หรือทำกำไรได้ง่ายๆ จากการ "หากิน"
หรือซื้อหุ้นตาม "ปลาใหญ่" หรือรายใหญ่ที่กำลัง "โปรโมท" หุ้น
เพราะผมคิดว่าการทำแบบนี้มีความเสี่ยงพอสมควร และถ้ามันเกิดขึ้น คุณก็จะกลายเป็น
"อาหาร" นั่นก็คือ เสียหายหนักจากการลงทุนได้
*************************
ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอบคุณแหล่งข้อมูลครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น