หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

8 นิสัยช่วยให้เป็นเศรษฐีเงินล้าน


"พฤติกรรม" และ "นิสัย" เป็นส่วนผสมที่ทำให้คุณเป็น"เศรษฐี"ได้ ในเวลาเดียวกันพฤติกรรมและนิสัยบางอย่าง ก็บันดาล "ความยากจน" ให้กับคุณได้เหมือนกัน

หากคุณลองหมั่นสังเกตนิสัยของบรรดาเศรษฐีทั้งที่อยู่รอบตัวเราและที่อยู่ห่างตัวหน่อย ก็จะเห็นว่าพวกเขามีลักษณะนิสัยที่คล้ายๆ กัน อาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมจะค่อนไปในทางละม้ายคล้ายกัน
ในทางตรงกันข้ามพวกที่ไม่เคยถูกเรียกว่าเศรษฐี ก็มักจะมีนิสัยที่ถอดแบบกันมาเช่นกันทั้ง ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เกินตัว

ถ้าอย่างนั้นมีนิสัยอะไรบ้าง ที่ช่วยเนรมิตความเป็นเศรษฐีให้คุณ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ 8 นิสัยที่ช่วยให้คุณเป็นเศรษฐีเงินล้าน

ไม่ใช่นิสัยหรือพฤติกรรมทุกอย่างของคนเรา ที่จะหนุนนำให้ทุกคนขึ้นบัลลังก์ของเศรษฐีได้ เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ดอทคอม ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ "8 นิสัยที่จะช่วยให้คุณเป็นเศรษฐีเงินล้าน" ลองสำรวจตัวเองดู บางทีคุณอาจจะมีนิสัยเหล่านี้ซ่อนอยู่ในตัวอยู่แล้วก็ได้

บางคนอาจจะไม่มีเลย แต่ไม่เป็นไร นิสัยเหล่านี้สร้างและบ่มเพาะกันได้ หรือบางคนอาจจะแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนิดหน่อย แล้วนำนิสัยเหล่านี้มาประยุกต์ใช้อย่างไม่ยากเย็น

ลักษณะนิสัยทั้ง 8 ข้อจากนี้ไป เป็นเหมือนกฎขั้นพื้นฐานที่เศรษฐีเงินล้านส่วนใหญ่ทั่วโลกยึดถือและปฏิบัติ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งคนไทยทั่วไปสามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่าง ช่วยให้ตัวเองเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ ด้วยหนึ่งสมองและสองมือสองขาของเรานี่เอง

1. หาเงินไว้ลงทุน..ไม่ใช่เพื่อใช้จ่าย

ใครก็ตามที่มุ่งมั่นและตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะร่ำรวยเงินทอง เพราะคนที่หาเงินได้มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นเจ้าของคำว่า "เศรษฐี"

เพราะบางคนหาได้เงินมากก็ใช้จ่ายมาก บางคนทำมาหากินแทบตาย แต่ต้องเอามาใช้หนี้สินที่ติดตัวอยู่

แต่สำหรับคนที่เป็นเศรษฐี จะมีนิสัยที่ค่อนข้างชัดเจนคือ เมื่อได้เงินมาก็จะนำไปต่อยอดการลงทุน เข้าตำราหาเงินไว้เพื่อลงทุน ไม่ใช่เพื่อใช้จ่าย

"คนส่วนใหญ่ทำงานหนัก เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต และบำเรอความสุขให้กับชีวิตตัวเอง แต่กลุ่มคนมีเงินตระหนักว่า ถ้านำเงินก้อนที่มีอยู่ไปต่อยอดให้ออกดอกออกผลเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเองน่าจะดีกว่า" เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ให้ทัศนะ

"วิเชฐ ตันติวานิช" กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ MAI เห็นด้วยกับนิสัยนี้ เพราะมีคนจำนวนมากที่มีรายได้เยอะ แต่เมื่อมีมากใช้มากก็ไม่มีทางที่จะเป็นเศรษฐีได้ แต่คนที่เป็นเศรษฐีก็มักจะมีนิสัยที่ต่างออกไป เมื่อมีรายได้เข้ามา แทนที่จะโหมใช้จ่าย พวกเขาจะนำเงินไปต่อยอดลงทุนเพื่อให้เงินออกดอกออกผล

2. มีแผนและทำตามแผน

เศรษฐีเงินล้านที่รวยได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่ได้ร่ำรวยเพราะความบังเอิญ ส่วนหนึ่งนั่นเพราะพวกเขามีนิสัยที่มีแผนและลงมือปฏิบัติตามแผน ซึ่งนั่นเป็นแรงผลักดันที่ช่วยพวกเขาให้เดินสู่ความรวย

"การวางแผนและทำตามแผนนำพวกเขาสู่จุดหมาย นั่นคือการลงทุนและสั่งสมความมั่งคั่งไว้ตลอดชีวิต" เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ให้ทัศนะ

"ดารบุษป์ ปภาพจน์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2 บลจ.กรุงไทย มองว่า เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งมือใหม่หัดลงทุนมักจะละเลยไป คือการทำตามแผนที่วางไว้โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ ออมเงินก่อนหรือ Pay Yourself First โดยการหักเงินออมออกจากบัญชีเงินเดือนทันทีที่เงินเดือนออก ก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น เพราะแผนที่วางไว้อย่างสวยหรูนั้น จะไม่มีประโยชน์เลย หากไม่มีการนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

การมีวินัยในแผนลงทุนนั้นยังรวมถึง ผู้ลงทุนที่เลือกการลงทุน โดยใช้กลยุทธ์เฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ด้วยการลงทุนเป็นประจำด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน ผู้ลงทุนควรมีวินัย ไม่หวั่นไหวไปกับการขึ้นลงของภาวะตลาด โดยอาจใช้ร่วมกับแผนการลงทุนอัตโนมัติที่บริษัทจัดการต่างๆ มีไว้บริการ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลา และลดความวุ่นวายใจไปได้มากทีเดียว

วิเชฐเห็นด้วยกับข้อนี้ ทุกคนคิดและวางแผนการเงินการลงทุนได้ว่าจะทำโน่นนี่นั่น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่วางแผนแล้วจะปฏิบัติหรือลงมือทำตามแผน ฉะนั้น ใครก็ตามที่วางแผนทางการเงินให้ตัวเอง แล้วเดินตามแผนก็มักจะมีแววที่จะเป็นเศรษฐี

3. ทำงานหาเงินให้มากขึ้น

ความหมายข้อนี้ดูเหมือนชัดเจน เพราะกลุ่มคนมั่งคั่งมักจะพากันแสวงหาหนทาง ที่จะสร้างหรือหารายได้ให้ไหลมาเทมาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีวันหยุด ด้วยการเพิ่มจำนวนเงิน ให้ทำงานออกดอกออกผลให้พวกเขาได้มากขึ้น
นี่คือนิสัยประจำตัวของบรรดาเศรษฐี จะสังเกตเห็นได้ว่า ยิ่งร่ำรวยอยู่แล้ว ยิ่งไม่หยุดทำงาน ยิ่งมั่งคั่งอยู่แล้ว ยิ่งหาทางต่อยอดการลงทุนให้มั่งคั่งยิ่งขึ้น
เรื่องนี้วิเชฐตั้งข้อสังเกตว่า คนที่มีเงินทองหรือร่ำรวยในระดับหนึ่งแล้ว พวกเขามักไม่เก็บเงินเอาไว้อย่างเดียว แต่หาช่องทางเพื่อขยับขยายความรวย ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้เขามักจะให้เงินทำงานช่วยอีกแรง เรียกว่าทำเงินได้ 2 เด้ง

4. เข้าใจฐานะการเงินของตัวเอง

กลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งต่างตื่นตัวกับการรับรู้รายได้ในบัญชีส่วนตัว และรู้ว่าการไหลเวียนของเงินที่ไหลเข้าออกในบัญชีมีเท่าไร ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าต่างจากคนที่ยังไม่ได้เป็นเศรษฐี ที่มักจะไม่ค่อยสนใจและใส่ใจในฐานะการเงินของตัวเองซักเท่าไร

บางคนยิ่งไปกว่านั้น เพราะปล่อยให้หนี้ท่วม นอกจากไม่ได้จัดระเบียบหนี้แล้ว ที่ร้ายกว่านั้นคือแทบไม่รู้เลยว่าหนี้ของตัวเองเบ็ดเสร็จแล้วมีเท่าไร

เรื่องนี้ดารบุษป์บอกว่าก่อนที่จะทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จ เราจะต้องมีการวางแผนรู้เขา รู้เรา ซึ่งการวางแผนการลงทุนก็ไม่ต่างกัน การเข้าใจฐานะการเงินของตนเองให้ถ่องแท้ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ก็จะเหมือนการขับรถทางไกลโดยไม่เตรียมความพร้อม ไม่ได้เช็คเครื่อง หม้อน้ำ ปริมาณน้ำมัน ไม่รู้ว่ากำลังเครื่องยนต์ของรถนั้นมีมากน้อยเพียงใด สามารถขึ้นเขา ลุยโคลนได้หรือไม่

ซึ่งการละเลยไม่เข้าใจตนเองเช่นนี้ ก็มีแต่จะจะทำให้เราประสบปัญหาและอุปสรรคระหว่างทาง ต้องเสียเวลามากกว่าที่ควรเพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หรือบางทีก็อาจหมดกำลังใจไปก่อนที่จะถึงเป้าหมาย

"ก่อนจะเริ่มต้นวางแผนการเงินนั้น เราจะต้องรู้ว่ารายรับของเรานั้นมีความสม่ำเสมอแค่ไหน มีส่วนเกินกว่ารายจ่ายหรือไม่ รวมถึงมีการกันเงินเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเพียงพอที่จะทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งเงินที่ตั้งใจเก็บไว้เพื่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งหากเราละเลยขั้นตอนนี้ไป ก็ยากที่จะถึงเป้าหมายได้ "

วิเชฐเสริมว่า คนที่เป็นเศรษฐีมักจะมีนิสัยใส่ใจในเรื่องเงินทองอยู่แล้ว ทั้งรายรับรายจ่ายทำใส่เอ็กเซลชีทเอาไว้ ส่วนคนที่ยังไม่ได้เป็นเศรษฐี ควรจะทำอย่างยิ่ง นี่เป็นบันไดก้าวหนึ่งที่จะนำคุณไปเป็นเศรษฐีได้

5. กล้ารับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ดอทคอมบอกไว้ว่า การเป็นผู้กล้ารับความเสี่ยง เป็นสิ่งต้องทำเพื่อเพิ่มความรวยให้ตัวเอง หากไม่เข้าไปฉวยโอกาสบางครั้ง เงินที่มีอยู่จะไม่มีโอกาสงอกเงย แต่เหนืออื่นใด ต้องเป็นความเสี่ยงที่คุณรับได้ และต้องมีการวางกลยุทธ์อย่างดีเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะตลาดตกต่ำหรือช่วงขาลง

ข้อนี้ วิเชฐมองว่า คนที่จะเป็นเศรษฐีได้ พวกเขามักรู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ประเมินได้ว่าความเสี่ยงมันใหญ่ขนาดไหน และตัวเขาเองสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน

"เพราะความเสี่ยงในระดับสูง ไม่ใช่ว่าเราไปยุ่งกับมันไม่ได้ คนที่เป็นเศรษฐีได้เขาจะประเมินพละกำลังของตัวเองก่อนว่า ความเสี่ยงแค่นี้ เรารับมือไหวมั้ย เพราะถึงจะเสี่ยงสูง แต่ถ้าเรารับความเสี่ยงไหว เราจัดการกับความเสี่ยงนั้นได้ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงก็มี "

6.มีความอดทน&สติซ่อนอยู่ในการลงทุน

สังเกตมั้ยว่าพวกเศรษฐีเงินล้านที่ร่ำรวยจากสองมือสองขากับหนึ่งสมองของตัวเอง ไม่ได้กลายเป็นเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืน แต่เศรษฐีเหล่านี้เข้าใจถึงพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น และความพยายามลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่หยุด เพื่อให้ได้ความร่ำรวยเป็นรางวัลตอบแทน

ดารบุษป์เปรียบเปรยให้ฟังว่ามีคนเคยเปรียบการลงทุนว่าเหมือนการไต่เทือกเขาสูง ยิ่งเป้าหมายสูงเพียงใด นอกจากต้องเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์แล้ว ต้องอาศัยจิตใจที่แข็งแกร่งจึงจะก้าวผ่านหุบเหวที่เป็นอุปสรรคไปได้ การลงทุนก็เช่นกัน ความผันผวนของตลาดหุ้นนั้นเกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ดังนั้น เมื่อนักลงทุนได้แสวงหาเส้นทางการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายของตนเองแล้ว ก็ควรเตรียมใจที่จะพบอุปสรรคที่จะเข้ามา

หากอุปสรรคนั้นเป็นอุปสรรคที่ประเมินไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น เมื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้นของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน อินเดีย หรือรัสเซีย ซึ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนสูง ก็ต้องเผื่อใจสำหรับโอกาสที่จะขาดทุนอย่างมากในบางช่วงเวลาด้วยเช่นกัน

วิเชฐเสริมว่าอดทนอย่างเดียวไม่พอ สำคัญที่สุดคนที่จะเป็นเศรษฐีได้ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เพราะคนที่มีสติจะทำให้ตัดสินใจได้ว่าในสถานการณ์นั้นๆ เขาควรตัดสินใจอย่างไร เช่นถ้าภาวะตลาดหุ้นไม่ดี คนที่มีสติก็อาจจะประเมินและตัดสินใจได้ว่า สถานการณ์ย่ำแย่แบบนี้เขาควรจะถอนตัวออกหรืออยู่ต่อเพื่อรอ หรือหาจังหวะเข้าลงทุน

7.ได้ทีมที่ยอดเยี่ยม

กลุ่มคนร่ำรวยยังคงความมั่งคั่งของตัวเองไว้ได้ ด้วยผู้คนแวดล้อมซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินและกฎหมาย ซึ่งล้วนมีฝีมือเป็นเลิศในแวดวงอาชีพนั้นๆ นั่นเป็นประเด็นที่เราเห็นได้ว่าบรรดาเศรษฐีเงินล้านมักไม่เดินหน้าสร้างความร่ำรวยโดยลำพัง

"ลองสังเกตดูสิ คนที่เป็นเศรษฐีไม่ใช่ว่าทุกคนเกิดมาท่ามกลางคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุน แต่คนเหล่านี้จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุน นั่นทำให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้แง่มุมและช่องทางต่างๆ ของการลงทุน ว่าอะไรที่จะทำให้เงินทองของเขางอกเงยขึ้น หรือมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เงินออกดอกออกผล" วิเชฐให้ทัศนะ

8.รับฟัง..กลั่นกรอง...นำไปใช้

นิสัยอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ด้วยความสามารถของตัวเอง คือการแสวงหาคำแนะนำจากที่ปรึกษาเชื่อถือไว้ใจได้ เศรษฐีเหล่านี้รับฟังด้วยความมุ่งมั่นมีใจจดจ่อ จากนั้นพวกเขาก็สามารถนำไปปฏิบัติและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เพื่อพยายามสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง

ดารบุษป์บอกว่าการวางแผนการลงทุนนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนชีวิต ซึ่งต้องการความมีเหตุผลสูงกว่าการเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป การฟังเขามาแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะแน่ใจได้ว่าการลงทุนที่เหมาะกับคนอื่นนั้นจะเหมาะกับตัวเราด้วย เช่น เมื่อฟังเพื่อนๆ พูดถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ก็ต้องนำมากลั่นกรองว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ผลตอบแทนที่ว่าสูงนั้นๆ คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ และตัวเรานั้นมีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่ว่านั้นแค่ไหน หรือมีวิธีที่จะลดหรือกระจายความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง โดยอาจต้องศึกษาจากข้อมูลการลงทุนในหนังสือชี้ชวน สอบถามผู้รู้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

วิเชฐเองก็เห็นด้วยว่าคนจะเป็นเศรษฐีได้ เบื้องต้นต้องหัดรับฟังข้อมูล หาข้อมูลการลงทุนให้เยอะเข้าไว้ จากนั้นก็นำมากลั่นกรอง เพราะเมื่อได้ข้อมูลเยอะเราต้องกรอง จากนั้นค่อยนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการตัดสินใจลงทุน
"ผมว่านิสัยเหล่านี้เศรษฐีมีทุกคน บางคนข้อมูลเยอะ กลั่นกรองแล้ว แต่ไม่กล้าตัดสินใจที่จะลงทุน คุณก็เป็นได้แค่นักวิเคราะห์ แต่เป็นเศรษฐีไม่ได้" วิเชฐให้ความเห็นทิ้งท้าย

ใน 8 นิสัยเหล่านี้ ลองถามไถ่ตัวเองดูซิว่ามีกี่ข้อ ถ้ามีครบ 8 เตรียมสะกดคำว่าเศรษฐีรอไว้ได้เลย แต่ถ้าไม่มีสักข้อ ก็ยังไม่สายเกินไปค่อยๆ บ่มเพาะนิสัยเหล่านี้กันใหม่ได้
ขอขอบคุณ คุณดารบุษป์ ปภาพจน์

ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล: www.stock2morrow.com
http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=39314&s=3e3ab808bd2805c7f8d4858d8d8d02f5

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีการเลือกซื้อกองทุน LTF


ซื้อกองทุน LTF อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

ความนิยมในการลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี2553 ที่ผ่านมา ยอดเงินลงทุนในกองทุน LTF สูงถึง 129,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ51.56% ประโยชน์หลักของการลงทุนกองทุน LTF คือการลดหย่อนภาษี และกำไรจากการลงทุน แต่ใช่ว่า การลงทุนในกองทุน LTF จะเหมาะกับทุกคน เพราะการลงทุนในกองทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นการลงทุนในกองทุนหุ้น นักลงทุนจึงมีโอกาสขาดทุนได้ บทความฉบับนี้จึงขอแนะนำวิธีการลงทุนกองทุน LTF ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดค่ะ

พิจารณาฐานภาษีสูงสุดของคุณว่าอยู่ที่เท่าไร

หลักการคิดจำนวนเงินที่จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนกองทุน LTF คือ

ยอดเงินลงทุน (ไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือ 500,000 บาท) x ฐานภาษีสูงสุด

ยกตัวอย่างเช่น คุณมีฐานภาษีสูงสุด 20% และซื้อกองทุน LTF เป็นเงิน 50,000 บาท ดังนั้น คุณจะสามารถลดหย่อนภาษีจากการลงทุนครั้งนี้ได้ 10,000 บาท (ทั้งนี้ ยอดเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีอาจน้อยกว่า 10,000 บาท หากรายได้ที่ตกในฐานภาษี 20% เป็นเงินน้อยกว่า 50,000 บาท) ดังนั้น คนที่มีฐานภาษีอยู่ในระดับสูงจะได้รับประโยชน์จากการซื้อกองทุน LTF เป็นอย่างมาก เสมือนซื้อหุ้นได้ถูกกว่าคนอื่น เช่น หากคุณ ซึ้อกองทุน LTF ที่ดัชนี 1,000 จุด และฐานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 30%ต้นทุนในการซื้อกองทุนของคุณจะเสมือนซื้อที่ดัชนี 700 จุด ในทางตรงกันข้าม หากฐานภาษีสูงสุดของคุณอยู่ที่ 10% คุณจะสามารถซื้อหุ้นที่ดัชนี 900 จุด ดังนั้น ในช่วงที่ดัชนีหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก การซื้อกองทุน LTF ของผู้ที่มีฐานภาษีสูงสุดที่ 10% อาจไม่คุ้มค่า เนื่องจาก เมื่อคุณถือกองทุนครบ 5 ปีปฏิทิน และต้องการขาย คุณมีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนครั้งนี้ เพราะต้นทุนในการลงทุนของคุณอยู่ในระดับสูง

ดังนั้น หากฐานภาษีสูงสุดของคุณอยู่ที่ 10% ก่อนซื้อกองทุน LTF อย่าลืมตรวจสอบภาวะตลาดหุ้นว่า อยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง หากดัชนีปรับตัวสูงขึ้นมามากและโอกาสปรับขึ้นได้ต่อมีน้อย ขอแนะนำให้ชะลอการซื้อกองทุน LTF ไปก่อนค่ะ

ทยอยซื้อกองทุน หรือซื้อก้อนเดียวปลายปีดีกว่ากัน

นักลงทุนหลายคนนิยมซื้อกองทุน LTF ช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ มักจะจัดโปรโมชั่นที่น่าสนใจในช่วงนั้น และนักลงทุนสามารถนำเงินโบนัสที่ได้ในช่วงปลายปีมาซื้อได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความนิยมดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนในการซื้อกองทุน LTF มากขึ้น ดังนั้น พวกของสมนาคุณที่คุณได้รับมีโอกาสไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น ขอแนะนำให้ลงทุนแบบทยอยซื้อดีกว่าค่ะ แต่จะทยอยซื้ออย่างไรนั้น สามารถแบ่งตามประเภทของนักลงทุนได้ 2 แบบค่ะ

1. มีเวลาติดตามสภาวะตลาด หากคุณเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การลงทุนในหุ้น และมีเวลาติดตามสภาวะตลาดแล้ว แนะนำให้ทยอยซื้อ เมื่อดัชนีหุ้นอ่อนตัวลงค่ะ

2. ไม่มีเวลาติดตามสภาวะตลาด หากคุณงานยุ่งจนไม่สามารถติดตามภาวะตลาดหุ้นได้ แนะนำให้ลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging หรือซื้อแบบเฉลี่ยราคา เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ปัจจุบัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่งมีบริการหักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อัตโนมัติ เพื่อลงทุนในกองทุน LTF จะช่วยให้คุณสามารถลงทุนได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้นค่ะ

ศึกษาข้อมูลกองทุน LTF ต่างๆ ก่อนเข้าลงทุน

ปัจจุบัน กองทุน LTF ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 52 กองทุน จาก 20 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ดังนั้น การเลือกซื้อกองทุน LTF คงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน ขอแนะนำเทคนิคในการซื้อกองทุน LTF ดังนี้

1. เลือกนโยบายการลงทุน กองทุน LTF มีนโยบายลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ดังนั้น ผลการดำเนินงานของกองทุนมักจะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามภาวะตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นลง คุณสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่ระบุว่าลงทุนในหุ้นไม่เกิน 70% หรือ 75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือเลือกกองทุนที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Short Futures) ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าหน่วยลงทุนไม่แกว่งตัวตามการขึ้นลงของตลาดหุ้น

2. เลือกนโยบายการจ่ายเงินปันผล กองทุน LTF มีทั้งแบบจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล หากคุณเลือกแบบจ่ายเงินปันผล คุณมีโอกาสได้รับผลตอบแทนระหว่างการลงทุน แต่เงินปันผลที่ได้รับจะต้องเสียภาษี ซึ่งสามารถเลือกว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือนำมารวมคำนวณในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี โดยขอแนะนำให้เลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ดีกว่าค่ะ เนื่องจาก หากคุณเลือกมารวมคำนวณในการยื่นภาษีเงินได้ คุณจะต้องเสียภาษีในอัตราที่เป็นฐานภาษีสูงที่สุดของคุณ ซึ่งมีโอกาสมากกว่า10% ค่ะ

3. เลือกกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดี เมื่อเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตนเองแล้ว การเลือกกองทุนที่จะลงทุนเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากค่ะ โดยผลการดำเนินงานย้อนหลังจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานย้อนหลังที่ดีไม่ใช่สิ่งที่จะรับประกันได้ว่า กองทุนจะมีผลงานที่ดีเสมอไป ดังนั้น หลังจากที่ลงทุนกองทุน LTF ไปแล้ว คุณควรติดตามผลงานของกองทุนที่คุณถือว่ามีผลงานที่ดี เมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ หรือไม่ หากผลการดำเนินงานไม่เป็นที่น่าพอใจ คุณสามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุน LTF อื่นได้ในภายหลังค่ะ สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน LTF คุณสามารถตรวจสอบได้จากเวบไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน: www.aimc.or.th

การซื้อกองทุน LTF แม้ว่าจะสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ แต่การลงทุนในกองทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้น ดังนั้น หากคุณไม่สามารถรับความเสี่ยงระดับสูง แต่ต้องการลดหย่อนภาษี คุณสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลื้ยงชีพ (RMF) หรือประกันชีวิต ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าแทนได้ค่ะ

โดย : ปานตา ฉัตรมาศ
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทางออกจากหน้าผาการคลัง


เกาะกระแส fiscal cliff หรือ "หน้าผาทางการคลัง" กันหน่อยค่ะ......เป็นกระแสให้นักลงทุนทั่วโลกจับตากันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง วันนี้เลยนำบทความจากดร.กอบ มาให้ลองอ่านกันค่ะ ทางออกของปัญหานี้ในมุมมองของดร.มีอยู่ 3 ทาง แต่สหรัฐจะเลือกทางใด ต้องลุ้นกันต่อไปนะคะ ^^

ทางออกจากหน้าผาการคลัง
ณ วันนี้ สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามองอยู่อย่างใกล้ชิด ก็คือ ปัญหาหน้าผาการคลังที่กำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยทุกคนรอคอยดูว่า สหรัฐจะมีทางออกอย่างไรกับปัญหาเรื่องนี้ ทางเลือกมีอยู่ 3 ทาง

ทางแรก คือ ยอมตกลงไปในหน้าผาการคลัง โดย

(1) ยอมให้นโยบายการลดภาษีชั่วคราวสำหรับคนรวย ของประธานาธิบดีบุช หมดอายุลงตามที่กำหนดไว้ ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยอัตราภาษีจะเด้งกลับไปอยู่ที่ 39.6% เช่นเดิม จากระดับ 35% ในปัจจุบัน

(2) ยอมให้นโยบายการลดภาษีประกันสังคมให้ชนชั้นกลางของประธานาธิบดีโอบามา ครบกำหนด หมดอายุลงไปพร้อม ๆ กัน และ

(3) ยอมตัดงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลลงบางส่วน ซึ่ง 3 รายการนี้ เมื่อทำร่วมกันแล้ว จะทำให้สหรัฐลดการขาดดุลการคลังลดลงได้ 6 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณครี่งหนึ่งของการขาดดุลการคลังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทางที่สอง คือ หลีกเลี่ยง หลบไม่ยอมตกลงไปในหน้าผาการคลัง
เจรจาฮั้วยอมความกัน ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน จูงมือเดินถอยหลังกลับออกจากริมหน้าผา โดยยืดอายุการลดภาษี และชะลอการตัดงบประมาณรายจ่ายออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ปีหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐจะยังสามารถขยายตัวต่อไปได้

ทางสุดท้าย คือ หาทางสายกลาง ประนีประนอมระหว่างสองฝ่าย ยอมตกร่วงลงไปในหน้าผาการคลังบ้างบางส่วน
โดยสองฝ่ายช่วยกันเลือกว่า จะยอมขึ้นภาษีส่วนไหน จะลดรายจ่ายที่รายการไหนเป็นพิเศษ เพื่อลดระดับการขาดดุลการคลังของสหรัฐลงมาบ้าง แต่ขณะเดียวกัน ไม่รัดเข็มขัดมากจนเกินไป จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วทางไหนดีกว่ากัน

ทางเลือกแรก สำนัก Congressional Budget Office ของสหรัฐ ประเมินไว้ว่า ถ้ายอมตกลงไปในหน้าผาทางการคลังแต่โดยดี ไม่ขัดขืน เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งหนึ่งในช่วงปีหน้า โดยจะหดตัวประมาณ 0.5% (ต่ำลงกว่าที่เคยคาดไว้ประมาณ 2.9%) ซึ่งหมายความว่า การฟื้นตัวของสหรัฐจะหยุดชะงักลง อีกทั้งจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านคน ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐกลับไปที่ 9.1% อีกครั้งหนึ่ง

ทางเลือกนี้จะส่งผลดีในระยะยาว หลังจากยอมทนทุกข์ทรมานเรื่องการตกงาน เศรษฐกิจที่ฟื้นไม่ได้ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จนผ่านพ้นไปได้แล้ว ปัญหาหนี้ภาครัฐของสหรัฐจะได้รับการดูแล โดยหนี้ภาครัฐของสหรัฐที่อยู่ในระดับประมาณ 73% ของจีดีพี (เฉพาะในส่วนที่เป็นหนี้กับสาธารณชน) ลดลงมาที่ 58% ในช่วง 8 ปีข้างหน้า เรียกว่าเป็นการยอมเจ็บระยะสั้น เพื่อฐานะที่มั่นคงระยะยาว

ส่วนทางเลือกที่สอง ถ้าไม่รัดเข็มขัด ไม่ทำอะไรเลย ดันทุรังที่จะขาดดุลกันต่อไป แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่ถูกกระทบ แต่สหรัฐจะเป็นหนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเป็น 90% ในช่วง 8 ปีข้างหน้า และหลังจากนั้น จะพุ่งขึ้นไปถึง 200% ในช่วง 20 ปีข้างหน้า และอาจลุกลามเป็นวิกฤติการคลัง ที่ต้องแก้ไขในระยะยาว

พูดง่าย ๆ ทั้งทางเลือกแรกและสอง ต่างไม่ดีกันทั้งคู่ ไม่ว่าจะเลือกไปทางไหน ต่างก็จบไม่ดี ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงต้องมองหาทางเลือกใหม่ ที่จะสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นกับเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว โดยหาทางออกร่วมกัน ประนีประนอม ยอมรัดเข็มขัดบางส่วนประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. (กล่าวคือ ยอมตกลงไปในหน้าผาบ้าง 1/3 ของระยะทาง) เพื่อแสดงว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สาธารณะในระยะยาวของตนเอง และได้เริ่มรัดเข็มขัดบ้างแล้ว และปีถัด ๆ ไป ก็ค่อยทยอยรัดเข็มขัดในส่วนที่เหลืออีกปีละ 2 แสนล้านดอลลาร์

โดยในรายละเอียดแล้ว ภาษีที่ควรกลับขึ้นไประดับเดิม ก็คือ ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับกลุ่มคนรวย การปิดช่องโหว่ที่คนรวยใช้ในการหลีกเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ เนื่องจากรายจ่ายส่วนสำคัญของภาครัฐจะมาจากรายจ่ายเพื่อโครงการประกันสังคมและประกันสุขภาพ ก็คงต้องหารือกันว่า จะลดรายจ่ายในส่วนนี้อย่างไร อาทิ เพิ่มอายุขั้นต่ำก่อนที่ผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิจากโครงการประกันสุขภาพของภาครัฐ จาก 65 ปี เป็น 67 ปี รวมไปถึงการลดอัตราการปรับเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์ของโครงการประกันสังคมในแต่ละปีให้ต่ำลงจากในอดีต เป็นต้น

หากตกลงกันได้เช่นนี้ หน้าผาทาง การคลังก็จะถูกแปลงให้เป็น เนินเขาทาง การคลัง ที่จะสามารถกลิ้งลงมา และช่วยลดผลกระแทกที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไปบางส่วน อันจะทำให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบอ่อน ๆ สามารถฟื้นต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็จะสร้างความเชื่อมั่นเรื่องเสถียรภาพทางการคลังของสหรัฐในระยะยาว อันจะช่วยให้สถาบันจัดอันดับเครดิตลดความกังวลใจ และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐเอาไว้ ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ

==

ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 16 พ.ย. 55 คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร.กอบ 


วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สิบข้อ ความแตกต่าง ระหว่าง คนรวย กับ คนชั้นกลาง


ข้อหนึ่ง เศรษฐีนั้นคิดยาวแต่คนชั้นกลางคิดสั้น ว่าที่จริงคนที่คิดสั้นที่สุดก็คือคนจน พวกเขามักจะคิดอะไรแบบวันต่อวันทำนองหาเช้ากินค่ำ คนชั้นกลางนั้นมักจะคิดเป็นเดือนต่อเดือน นั่นคือคิดถึงวันเงินเดือนออก แต่คนรวยจะต้องคิดยาวเป็นปี ๆ หรือเป็นสิบ ๆ ปี ในใจของคนจนนั้น เขามักคิดแต่เฉพาะเรื่องของความอยู่รอดเป็นหลัก ในขณะที่คนชั้นกลางคิดถึงเรื่องความสุขสบายจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้า ส่วนคนรวยนั้น เป้าหมายของพวกเขาชัดเจน เขาต้องการความเป็นอิสระทางการเงิน การคิดยาวนั้นมีพลังมหาศาล เพราะมันจะทำให้เขาอดออมและลงทุนระยะยาวซึ่งจะทำให้เงินงอกเงยแบบทบต้นเป็นเวลานาน และนี่คือสูตรสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้คนมั่งคั่ง

ข้อสอง คนรวยพูดเกี่ยวกับเรื่องไอเดีย คนชั้นกลางพูดเกี่ยวกับสิ่งของ และคนจนพูดถึงเรื่องของคนอื่น นี่คงไม่ได้หมายถึงว่าคนรวยไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งของหรือคนอื่น แต่หมายถึงว่าคนรวยจะพูดถึงเรื่องของคนอื่นน้อยกว่าคนจนและมักจะเป็นคนที่มีแนวความคิดดี ๆ หรือมีมุมมองต่าง ๆ มากกว่าคนชั้นกลางและคนจน เบื้องหลังของนิสัยในเรื่องนี้คงอยู่ที่ว่า คนรวยนั้นมักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนจนซึ่งมักจะชอบ ซุบซิบนินทาเป็นนิจสิน ในขณะที่คนชั้นกลางอาจจะเน้นการทำงานประจำ ชอบพูดถึงเรื่องรถยนต์ ดนตรี การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น

ข้อสาม คนรวยยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงจะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ที่ตนเองเคยชิน ในขณะที่คนรวยนั้นคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า เขาคิดว่าในการเปลี่ยนแปลงนั้นมักมีโอกาสที่เขาอาจจะฉกฉวยได้ เบื้องหลังนิสัยนี้อาจจะมาจากการที่คนรวยมีความมั่นใจสูงกว่าคนชั้นกลางที่มักจะกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ได้

ข้อสี่ คนรวยกล้ารับความเสี่ยงที่ได้มีการพิจารณาและไตร่ตรองดีแล้ว คนชั้นกลางกลัวที่จะรับความเสี่ยง นี่เป็นนิสัยที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดของคนชั้นกลางในความเห็นของผม คนที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงเลยนั้นจะพลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีโดยสิ้นเชิง ในขณะที่คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่างที่ได้มีการศึกษามาเป็นอย่างดีจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้โดยที่ความเสี่ยงจริง ๆ นั้นจะมีน้อยมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ คนชั้นกลางส่วนใหญ่นั้นมักจะกลัวการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินที่มีความผันผวนของราคาโดยที่เขาไม่พยายามศึกษาว่าในระยะยาวแล้วมันอาจจะมีความคุ้มค่ากว่าการฝากเงินในธนาคารมาก ในอีกมุมหนึ่ง คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่าง บ้าบิ่นเช่นคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันเองก็ไม่ใช่นิสัยของคนรวย คนรวยนั้นจะต้องรับความเสี่ยงเฉพาะที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว

ข้อห้า คนรวยเรียนรู้และเติบโตตลอดชีวิต คนชั้นกลางคิดว่าการเรียนรู้จบที่โรงเรียน นิสัยการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ นี้ ผมคิดว่าเป็นหัวใจเศรษฐีจริง ๆ เพราะในความรู้สึกของผมเอง การเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นเพียงพื้นฐานที่เรานำมาศึกษาต่อด้วยตนเองได้ และเวลาหลังจากการเรียนในโรงเรียนนั้นยาวมากเป็นหลายสิบปี ดังนั้น ความรู้ส่วนใหญ่จึงควรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเรียนจบจากโรงเรียน โดยนัยของข้อนี้ คนรวยจึงน่าจะมีนิสัยรักการอ่านหรือการหาความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่คนชั้นกลางนั้น พอเรียนจบก็มักจะไม่สนใจอ่านหนังสือหรือหาความรู้ใหม่ ๆ และความรู้ที่ผมคิดว่าคนชั้นกลางพลาดไปเพราะไม่มีการสอนในโรงเรียนก็คือ ความรู้ทางด้านการเงินที่คนรวยมักจะศึกษาต่อเพราะเห็นถึงความสำคัญและอาจนำไปสู่ความร่ำรวยได้

ข้อหก คนรวยทำงานเพื่อหากำไร คนชั้นกลางทำงานเพื่อจะได้ค่าจ้าง คนรวยมองว่านี่คือหนทางที่จะทำให้รวยได้มากกว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยง ในขณะที่คนชั้นกลางนั้นมักจะไม่กล้าเสี่ยงและอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่า จึงมุ่งไปที่การหางานที่จะมีรายได้แน่นอน แต่รายได้จากการใช้แรงงานของตนเองนั้น มีน้อยคนที่จะทำให้ตนเองรวยได้

ข้อเจ็ด คนรวยเชื่อว่าพวกเขาจะต้องใจบุญสุนทาน คนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่มีปัญญาที่จะทำบุญ ข้อนี้ผมเองคงไม่มีคอมเม้นท์อะไร ส่วนหนึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ไม่ค่อยบอกหรือรู้กันยกเว้นกรณีที่เป็นการบริจาคใหญ่ ๆ อย่างกรณีของบัฟเฟตต์หรือบิลเกต

ข้อแปด คนรวยมีแหล่งรายได้หลากหลาย คนชั้นกลางมีเพียงหนึ่งหรือสองแหล่ง ข้อนี้ก็เช่นกัน ผมเองไม่แน่ใจว่าคนรวยมีรายได้จากหลายแหล่งเพราะรวยแล้วจึงไปลงทุนในทรัพย์สินหลาย ๆ อย่าง หรือมีทรัพย์สินหลายอย่างจึงทำให้รวย แต่ที่ผมเห็นชัดเจนก็คือ คนชั้นกลางนั้น มักไม่ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงทำให้รายได้มักจะมาจากเงินเดือนเป็นหลัก

ข้อเก้า คนรวยเน้นการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของตนเอง คนชั้นกลางเน้นการเพิ่มของเงินเดือน เป้าหมายของคนรวยนั้นอยู่ที่ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนโดยมองที่ภาพรวม ดังนั้น ถ้าเขามีหุ้นอยู่ การที่หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเขาก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องเสียภาษี แต่คนชั้นกลางพยายามทำงานเพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้นแต่เขาอาจจะลืมไปว่าเขาจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย สรุปก็คือ คนรวยเน้นการลงทุนใช้เงินทำงานแทนตนเอง คนชั้นกลางเน้นการใช้แรงงานของตนเอง

ข้อสิบ คนรวยชอบตั้งคำถามที่เป็นบวกและสร้างกำลังใจ เช่น ฉันจะสร้างรายได้เป็นเท่าตัวในปีนี้ได้อย่างไร? ในขณะที่คนชั้นกลางชอบตั้งคำถามที่เป็นลบและเสียกำลังใจเช่น จะหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ได้อย่างไร ?

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Stock2morrow.com

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff)


ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนกรกฏาคม 2555
ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล
"เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวต่อสมาชิกสภาคองเกรส ในการประชุมที่ผ่านมาว่า ถ้าหากสภาคองเกรสไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะ"หน้าผาทางการคลัง" ภายในช่วงสิ้นปีนี้ จะสร้างความเสียหายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้ว"

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2555)

หน้าผาทางการคลังคืออะไร (Fiscal cliff)?

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในระยะนี้และคาดว่าน่าจะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี คือ ความกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะตก "หน้าผาทางการคลัง" (Fiscal cliff) คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าหน้าผาทางการคลัง และเหตุใดจึงกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกต้องจับตามอง

หน้าผาทางการคลัง คือ การที่เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังอย่างฉับพลันและรุนแรง เนื่องจากมาตรการด้านการคลังชั่วคราวที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตินั้นสิ้นสุดลง ยิ่งมาตรการนั้นๆ มีขนาดใหญ่มากเท่าไร เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสูญเสียแรงส่งมากขึ้นเท่านั้น และนั่นหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกฉุดให้ลดต่ำลงหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นได้ ดังนั้นเหตุการณ์เช่นนี้จึงเปรียบเสมือนกับว่าเศรษฐกิจ "ตกหน้าผาทางการคลัง"
  
หน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ สูงขนาดไหน ?

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ค่อนข้างสูงถึงราว 100% ของ GDP และมีการขาดดุลงบประมาณสูงถึงราว 9.5% ของ GDP ในปี 2011 ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการตัดงบประมาณอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่า "Sequestration" ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายทางด้านการคลังของสหรัฐฯ ลงปีละราว 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยการตัดลดรายจ่ายนี้กำลังจะเริ่มต้นในปี 2013

นอกจากนี้ภายในสิ้นปี 2012 ยังมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังชั่วคราวอีกจำนวนมากที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลา โดยส่วนที่น่ากังวลมากที่สุดคือการสิ้นสุดระยะเวลาการตัดลดภาษีเงินได้ (Payroll-tax cut) ซึ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2001 และปี 2003 การสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากประชาชนในปี 2013 รวมทั้งสิ้นราว 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีมาตรการชั่วคราวอื่นๆ อย่างเช่น การให้เครดิตภาษีการลงทุน (Investment tax credit) และการเพิ่มเงินสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน (Jobless benefits) ที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาพร้อมกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2012 นี้เช่นเดียวกัน หลังจากที่เคยได้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2010

ทั้งนี้เมื่อคำนวณผลรวมของภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลงไป ทำให้ตัวเลขการขาดดุลการคลังของรัฐบาลระหว่างปีงบประมาณ 2012 และปี 2013 ลดลงราว 607 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ  4% ของ GDP1 ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2013 นั้นอยู่ที่เพียงราว 2.2% ทำให้หลายฝ่ายกังวลกันว่า "การตกหน้าผาทางการคลัง" ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้



สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้คืออะไร และจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ทัน?

เนื่องจากวันสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวอยู่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ แค่เพียงไม่ถึง 2 เดือน จึงมีโอกาสที่รัฐบาลที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งจะไม่สามารถดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหน้าผาทางการคลังได้ทันเวลา กล่าวคือ สภา Congress อาจไม่สามารถเลื่อนหรือขยายเวลาบางมาตรการออกไปได้ทันภายในเวลา 2 เดือน หรืออาจไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการปล่อยให้ภาคการคลังหดตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงต้นปี 2013 ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาสภา Congress ได้เคยล้มเหลวในการตกลงการลดการใช้จ่ายและเพิ่มเพดานหนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้มีโอกาสที่ครั้งนี้จะประสบความล้มเหลวซ้ำรอยอีกครั้ง นอกจากนี้นโยบายของทั้ง 2 พรรคการเมือง (Democrat และ Republican) ในเรื่องการคลังยังมีความแตกต่างกันมาก ทำให้จนถึงบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าสหรัฐฯ จะมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไร

ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถนำพาเศรษฐกิจของประเทศหนีจากการตกหน้าผาทางการคลังได้ทัน อาจมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแรงส่งให้แก่เศรษฐกิจ อย่างเช่นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3)  อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินคงไม่สามารถชดเชยการหดตัวทางการคลังในครั้งนี้ได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การใช้จ่ายในประเทศ (Domestic demand) จะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากภาษีเงินได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลงตามโปรแกรม Sequestration ด้วยเช่นกัน

ผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างไร?

ไม่ว่าผลสุดท้ายแล้วสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงการตกหน้าผาทางการคลังได้หรือไม่ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า เพราะหากพิจารณากรณีที่รัฐบาลสามารถขยายระยะเวลามาตรการลดภาษี หรือตัดค่าใช้จ่ายออกไปได้อีกครั้ง อาจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่ได้ลดลง ซึ่งการลดอันดับความน่าเชื่อถืออาจทำให้เงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่นที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีกว่าได้ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง

ในทางกลับกัน หากสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลังได้  จะเป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย และมีโอกาสที่เฟดจะใช้มาตรการ QE3 มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนลงและส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอื่นแข็งขึ้น รวมถึงเอเชีย และค่าเงินบาท

ระหว่างการรอลุ้นผลสรุปว่าสหรัฐฯ จะมีวิธีการจัดการกับหน้าผาทางการคลังนี้อย่างไร ตลาดการเงินอาจมีความผันผวนเป็นระยะจากความกังวล เช่นเดียวกับความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตลาดการเงินโลกรวมถึงประเทศไทยผันผวนมากในช่วงครึ่งปีแรก และถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแรง หรือถดถอยจริงก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก ความเชื่อมั่นการบริโภค และการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Fiscal Cliff หรือ หน้าผาทางการคลัง คืออะไร ?


ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆท่านน่าจะเคยได้ยินกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับคำว่า หน้าผาทางการคลัง หรือ Fiscal Cliff ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันในขณะนี้ค่ะ และในวันนี้เราจะมาดูกันว่า Fiscal Cliff ที่ว่านี้คืออะไร และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ หรือการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างไรบ้างค่ะ
      
       Fiscal Cliff หรือ หน้าผาทางการคลัง เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ค่ะ หลังจากที่มาตรการที่เคยใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังจะสิ้นสุดลง และรัฐบาลยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมารองรับ โดยมาตรการที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น ประกอบไปด้วย
(1) มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ทั่วไปสำหับคู่สมรสให้น้อยลง
(2) มาตรการยกเลิกภาษีมรดก และ
(3) มาตรการผ่อนปรนภาษี 2% ที่เก็บจากรายได้ของผู้ที่มีเงินเดือน (Payroll - tax cut )
ซึ่งมาตรการภาษีทั้ง 3 อย่างนี้ถูกนำมาใช้ในสมัยการเลือกตั้งของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (ปี 2544 และ 2546) และกำลังจะหมดอายุลงในปี 2556 ที่จะถึงนี้ ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีมาตรการใดใหม่ๆ ออกมาเพื่อทดแทนมาตรการเหล่านี้ด้วยค่ะ
      
       ในขณะที่มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 3 มาตรการกำลังจะหมดอายุลง แต่ในวันที่ 2 มกราคม 2556 นี้ สหรัฐฯ กำลังจะเริ่มบังคับใช้มาตรการใหม่ หรือ
(4) มาตรการปรับลดงบประมาณภาครัฐ (Sequestration) ที่จะลดงบประมาณของตนเองลงประมาณ 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2556 (Sequestration คือ มาตรการระยะยาวเพื่อลดรายจ่ายทางด้านการคลังลงประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลา 10 ปี โดยงบประมาณที่ถูกปรับลดราวครึ่งหนึ่งเป็นงบประมาณด้านกลาโหม) นอกจากนี้แล้ว
(5) มาตรการลดสวัสดิการแก่ผู้ว่างงาน ที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถลดรายจ่ายลงได้ถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็กำลังจะหมดอายุลงในปี 2556 นี้ด้วยค่ะ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า หลังจากมาตรการภาษีเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจบลงแล้ว แต่สหรัฐฯ กำลังจะตัดลดงบประมาณของตัวเองลง พร้อมๆกับต้องแบกรับภาระด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นไปด้วยพร้อมๆกัน สถานการณ์เช่นนี้จะมีผลทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดินไปในทิศทางใดนั่นเอง
      
       โดยหลายฝ่ายคาดว่า Fiscal Cliff ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก รวมถึงจะมีผลทำให้อัตราการจ้างงานในประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอีกด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนกับการตกจากหน้าผา หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การเข้าสู่ภาวะหดตัวทางการคลังนั่นเองค่ะ ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ว่าหากเกิด Fiscal Cliff ขึ้น จะมีผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2556 อยู่ที่ระดับ 2.2% หรือขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับปัจจุบัน 1 % ในขณะที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10% จากระดับปัจุบันที่ 8.3% นอกจากนี้แล้ว หากสหรัฐฯ ไม่มีการต่ออายุมาตรการภาษีออกไป จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน (Consumption) ลดลง เนื่องจากประชาชนต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น และยังจะมีผลทำให้ปริมาณเงินที่เคยหมุนเวียนอยู่ในมือประชาชน(ประมาณ 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หายไปอีกด้วย สถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้สหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง และอาจส่งผลให้มีเงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมไปถึงสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ แล้วไหลเข้าสู่ประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีกว่า (ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า)
      
       ทั้งนี้ อุปสรรคในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff หลักๆแล้วเกิดจากเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้ สูญญากาศทางการเมืองในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง จะส่งผลทำให้การตัดสินใจใช้นโยบายต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า และในท้ายที่สุดแล้ว สภาคองเกรสอาจไม่สามารถดำเนินมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหน้าผานี้ได้ทันเวลาหลังจากการเลือกตั้งเพียง 2 เดือน อีกทั้งพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรค (เดโมแครต และรีพับบลิกัน) ต่างก็มีนโยบายทางการคลังที่แตกต่างกัน ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงมาตรการรองรับที่จะออกมา และด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราจึงได้ยินกระแสข่าวเกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม เช่น การใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 3 หรือ Quantitative Easing: QE3 ที่คาดกว่าจะถูกนำมาใช้ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
      
       สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ในเบื้องต้นคาดว่าอาจมีผลทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกของไทยควรเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่การลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทย คาดว่าอาจจะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดการเงินของไทยมากขึ้นทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสุดท้ายอาจเป็นผลเสียต่อภาคการส่งออกของไทยได้ อย่างไรก็ตาม เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปค่ะ ว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการใดๆ ออกมาแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อทั้งการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกันค่ะ



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์,  28 สิงหาคม 2555.
โดยสโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

4 กูรูวีไอส่องตลาดทุน เปิดเคล็ดลับร่อน "หุ้นติดดาว"


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ภายหลังสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ยกระดับจากเว็บไซต์ที่อยู่คู่กับนักลงทุนมายาวนาน กว่า 10 ปี ซึ่ง "ธันวา เลาหศิริวงศ์" นั่งเป็นนายกสมาคม ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมให้ความรู้แนวทางการลงทุนแบบ VI ให้ถูกวิธี ซึ่งปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 2,000 ราย

นับเป็นครั้งแรกที่สมาคมจัดสัมมนาเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ "กลยุทธ์เลือกหุ้นแบบวีไอ" โดยวิทยากรที่คุ้นเคยในแวดวงคนเล่นหุ้น เริ่มจาก "อนุรักษ์ บุญแสวง" นักลงทุนที่มีพอร์ตหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป ได้เล่าถึงหลักการลงทุนแบบ VI ว่า ราคาหุ้นสุดท้ายสะท้อนจากกำไรของธุรกิจเติบโตในอนาคต ดังนั้นความสนใจในหุ้นตัวหนึ่งจะเริ่มจากกำไรต้องเติบโตสูงเป็นอันดับแรก ดูประวัติย้อนหลัง 4-5 ปี ส่วนราคาหุ้นก็ต้องดูว่ายังต่ำกว่ามูลค่าแท้จริง ด้านแหล่งที่มาของกำไรต้องยั่งยืน ไม่ใช่เพียงหุ้นที่มีวัฎจักรทำกำไรเติบโตดีได้แค่ช่วง 1-2 ปี

"ผมจะเจาะเข้าไปศึกษาแผนธุรกิจ หุ้นต้องมีคุณสมบัติเป็นธุรกิจที่ไม่มีสินค้าทดแทน เป็นสินค้าที่มีอำนาจในการขึ้นราคา และสามารถเจรจาต่อรองกับคู่ค้าได้สูง"

อนุรักษ์ บอกว่า
ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจคือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เพราะผู้บริหารยังไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะได้งานหรือไม่ จึงประเมินรายได้ยาก

ต่อด้วย นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี นิยามการเลือกลงทุนต้องเป็น "หุ้นขั้นเทพ" จะชอบคล้าย "อนุรักษ์" ที่ชอบหุ้นที่ผลิตสินค้าที่ต้องกินต้องใช้ และมีอำนาจต่อรองสูง ขณะที่จังหวะเข้าลงทุน ก็ถือว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งควรเข้าไปลงทุนก่อนคนอื่น หรือคาดการณ์ล่วงหน้า และสามารถซื้อลงทุนถือได้ใน 1 ปีพร้อมแนะกลุ่มสุขภาพ ธุรกิจค้าปลีกที่เป็นไฮเอนด์ ขณะที่กลุ่มไม่น่าลงทุนคือรับจ้างผลิต หรือ OEM จะไม่มีแบรนด์ตัวเอง อำนาจต่อรองต่ำ กระทบกำไร

นักลงทุนวีไอ "วิบูลย์ พึงประเสริฐ" เจ้าของผลงานหนังสือ "ตะแกรงร่อนหุ้น" เแนะว่า ถ้าตลาดปรับขึ้น หุ้นที่ถือก็ควรจะปรับขึ้นด้วย แต่หากตลาดปรับลง ถือเป็นจังหวะที่เราจะเก็บหุ้นได้ในราคาที่ถูกลง โดยเลือกธุรกิจที่มีความรู้และเข้าใจ ขั้นตอนถัดไปคือการวิเคราะห์งบการเงินและความสามารถในการแข่งขันของ อุตสาหกรรมและบริษัทโดยหุ้นที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจที่เกาะธีม AEC ที่ค้าขายของประเทศสมาชิกไม่ต้องเสียภาษี การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี เช่น แพทย์ พยาบาล ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลน่าสนใจ เนื่องจากต้นทุนที่ลดลง เพราะสามารถจ้างบุคคลากรต่างประเทศด้วยค่าจ้างที่น่าจะถูกลง ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจ ยังเป็นรับเหมาก่อสร้าง ด้วยสาเหตุเดียวกับ "อนุรักษ์"ให้ไว้มาที่เจ้าต้นตำรับวีไอ

"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" บอกว่า ปัจจุบันเลือกหุ้นลงทุนยากขึ้น มีหุ้นดี แต่ราคาแพง โดยหุ้นที่อยู่ในพอร์ต ส่วนใหญ่เป็นหุ้นชั้นดีที่เน้นลงทุนระยะยาวไม่มีกำหนดเวลา และเห็นแนวโน้มอนาคตไกล ๆ ได้ ขณะที่หุ้นอีกส่วนที่ถือติดพอร์ต แต่จำนวนน้อย คือหุ้นที่คุณภาพอาจไม่ดีเท่าแบบแรก แต่ราคาถูก ซึ่งจะถือไม่นาน เมื่อราคาขึ้นระดับหนึ่งแล้วจะขาย ส่วนหุ้นที่ชอบคือมีลักษณะอำนาจเหนือคู่แข่ง และเพิ่มขึ้นเรื่อย มีธุรกิจเป็นเบอร์ 1 ครองมาร์เก็ตแชร์ที่สูง

"ดร.นิเวศน์" ชี้อุตสาหกรรมที่กำลังจะมาจริง ๆ ในไทยเริ่มมองยาก จึงหันมาลงทุนต่างประเทศ แต่ถ้าให้แนะนำหุ้นที่ไม่กระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค ผลิตน้ำ ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่น่าลงทุนคือ Pure Community ได้แก่ เหล็ก ปิโตรฯ ถ่านหิน

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คุณสมบัติที่เหมือนๆ กัน 8ประการ ของนักลงทุนชั้นเซียน


คุณทราบหรือไม่ว่า... ผู้ลงทุนระดับ ปรมาจารย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีคุณสมบัติที่เหมือนๆ กันอยู่ 8 ประการด้วยกัน คือ

1). ผู้ประสบความสำเร็จในการลงทุนมักมีความกระตือรือร้น สนใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว นอกจากข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงแล้ว พวกเขายังให้ความสนใจกับสิ่งอื่นๆ ด้วย นั่นเป็นเพราะโลกในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง เช่น กรณีวิกฤต ต้มยำกุ้งที่เกิดกับประเทศไทย ปี 2540 นั้นได้ส่งผลสะเทือนต่อระบบการเงินไปทั่วโลก เป็นต้น

2). ผู้ลงทุนที่ดีควรจะสวมวิญญาณนักสืบ เป็นคนที่ช่างสังเกต ใส่ใจในรายละเอียด รวมทั้งต้องจดจำข้อมูลที่สำคัญๆ ของหุ้นต่างๆ ได้ ยิ่งคุณจำรายละเอียดได้มากเท่าใด คุณจะยิ่งมีความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะ รวมทั้งประเมินผลกระทบภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น กล่าวกันว่าWarren Buffett นั้น เป็นคนช่างสังเกตและสามารถจดจำรายละเอียดของข้อมูลต่างๆ ของบริษัทที่เขาไปลงทุนได้มากมายอย่างน่าทึ่ง ราวกับว่าตัวเขาเป็นเหมือน สารานุกรมเคลื่อนที่ทีเดียว

3). ผู้ลงทุนที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีความคิดที่เป็นอิสระ และไม่ยอมให้ความคิดของตัวเองถูกครอบงำโดยกระแสของคนส่วนใหญ่ เพราะว่าความผิดพลาดเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นพฤติกรรมที่สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้า

4). ผู้ลงทุนที่ดีจะต้องมีความอดทนในการรอคอย เพราะโอกาสดีๆ หรือความคิดดีๆ สำหรับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน เช่น Warren Buffett ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวินัยในการลงทุนสูงมากเขาเคยบอกว่าเคล็ด (ไม่) ลับของความสำเร็จในการลงทุนของเขาก็คือต้องรู้จักอดทนอดกลั้น รอคอยโอกาส ไม่ตัดสินใจตามกระแส และเมื่อโอกาสนั้นมาถึงต้อง หวดให้สุดแรงเพราะโอกาสดีๆ ที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตของคนเรานั้น มีไม่บ่อยครั้งนัก

5). โดยปกติ ความลึกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเรามีสมาธิ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพ่งความคิดให้แน่วแน่อยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Focus) และสามารถคิดได้อย่างมีอิสระ ตัวอย่างเช่น George Soros จะไม่ยอมให้ใครเข้ามารบกวนเวลาที่เขาทำการซื้อขายอยู่ แม้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงเพราะมีข่าวใหญ่บางอย่างเข้ามา กระทบ เขาก็ยังไม่ยอมให้ใครคนไหนเข้าพบเพื่อมาสรุปข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบให้ฟัง จนกว่าเขาจะได้ จัดการกับการลงทุนของเขาให้เรียบร้อยเสียก่อน

6). ในการลงทุน ผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมของไทย เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจต่างๆ รวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่สำคัญต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน มิฉะนั้นเขาจะ ไม่สามารถคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ หรือไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อลดทอนความเสียหายได้

7). ผู้ลงทุนระดับปรมาจารย์ทุกคน รักอาชีพการลงทุน พวกเขามีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่ทำ มากกว่า จะคิดเรื่องของผลตอบแทนที่ได้ Warren Buffett เคยพูดว่าตัวเขาเองว่า... Enjoy the process rather than the proceedsรู้สึกสนุกกับการทำให้ ได้ผลมากกว่าจะคำนึงถึง ผลได้

8). ผู้ลงทุนที่ประสบกับความสำเร็จในการลงทุนนั้น ต้องเปิดใจพร้อมที่จะยอมรับข้อมูลใหม่ๆ และโลกทัศน์ที่ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ต้องกล้าที่จะยอมรับความจริง ถ้าหากพบว่ามีการตัดสินใจผิดพลาดก็ต้องยอม ตัดขาดทุน” (Cut Losses) เสียแต่เนิ่นๆ แต่เมื่อตัดสินใจถูกต้องแล้ว ก็ต้องรู้จักปล่อยให้กำไรเพิ่มพูน” (Run Profits) ด้วยการไม่รีบขายหุ้นนั้นทิ้งไปด้วย

เครดิต TSI