ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร
ฉบับเดือนกรกฏาคม 2555
ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล
"เบน
เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวต่อสมาชิกสภาคองเกรส
ในการประชุมที่ผ่านมาว่า
ถ้าหากสภาคองเกรสไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะ"หน้าผาทางการคลัง"
ภายในช่วงสิ้นปีนี้ จะสร้างความเสียหายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
ซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้ว"
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2555)
หน้าผาทางการคลังคืออะไร (Fiscal
cliff)?
สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในระยะนี้และคาดว่าน่าจะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี
คือ ความกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะตก
"หน้าผาทางการคลัง" (Fiscal cliff)
คำถามก็คือ
อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าหน้าผาทางการคลัง
และเหตุใดจึงกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกต้องจับตามอง
หน้าผาทางการคลัง
คือ การที่เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังอย่างฉับพลันและรุนแรง
เนื่องจากมาตรการด้านการคลังชั่วคราวที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตินั้นสิ้นสุดลง
ยิ่งมาตรการนั้นๆ มีขนาดใหญ่มากเท่าไร
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสูญเสียแรงส่งมากขึ้นเท่านั้น
และนั่นหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกฉุดให้ลดต่ำลงหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นได้
ดังนั้นเหตุการณ์เช่นนี้จึงเปรียบเสมือนกับว่าเศรษฐกิจ "ตกหน้าผาทางการคลัง"
หน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ สูงขนาดไหน ?
ปัจจุบันสหรัฐฯ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP
ค่อนข้างสูงถึงราว 100% ของ GDP และมีการขาดดุลงบประมาณสูงถึงราว 9.5% ของ GDP
ในปี 2011 ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการตัดงบประมาณอัตโนมัติ
หรือที่เรียกกันว่า "Sequestration"
ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายทางด้านการคลังของสหรัฐฯ ลงปีละราว 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 10 ปี
โดยการตัดลดรายจ่ายนี้กำลังจะเริ่มต้นในปี 2013
นอกจากนี้ภายในสิ้นปี 2012 ยังมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังชั่วคราวอีกจำนวนมากที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลา
โดยส่วนที่น่ากังวลมากที่สุดคือการสิ้นสุดระยะเวลาการตัดลดภาษีเงินได้ (Payroll-tax
cut) ซึ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช
เมื่อปี 2001 และปี 2003
การสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากประชาชนในปี 2013 รวมทั้งสิ้นราว 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังมีมาตรการชั่วคราวอื่นๆ อย่างเช่น การให้เครดิตภาษีการลงทุน (Investment
tax credit) และการเพิ่มเงินสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน (Jobless
benefits) ที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาพร้อมกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2012 นี้เช่นเดียวกัน
หลังจากที่เคยได้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2010
ทั้งนี้เมื่อคำนวณผลรวมของภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลงไป
ทำให้ตัวเลขการขาดดุลการคลังของรัฐบาลระหว่างปีงบประมาณ 2012 และปี 2013 ลดลงราว 607 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ
4% ของ GDP1
ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2013 นั้นอยู่ที่เพียงราว 2.2% ทำให้หลายฝ่ายกังวลกันว่า
"การตกหน้าผาทางการคลัง" ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
จนถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้
สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้คืออะไร
และจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ทัน?
เนื่องจากวันสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวอยู่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
แค่เพียงไม่ถึง 2 เดือน
จึงมีโอกาสที่รัฐบาลที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งจะไม่สามารถดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหน้าผาทางการคลังได้ทันเวลา
กล่าวคือ สภา Congress อาจไม่สามารถเลื่อนหรือขยายเวลาบางมาตรการออกไปได้ทันภายในเวลา
2 เดือน
หรืออาจไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการปล่อยให้ภาคการคลังหดตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงต้นปี
2013 ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาสภา Congress
ได้เคยล้มเหลวในการตกลงการลดการใช้จ่ายและเพิ่มเพดานหนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง
ทำให้มีโอกาสที่ครั้งนี้จะประสบความล้มเหลวซ้ำรอยอีกครั้ง นอกจากนี้นโยบายของทั้ง 2 พรรคการเมือง (Democrat และ Republican)
ในเรื่องการคลังยังมีความแตกต่างกันมาก
ทำให้จนถึงบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าสหรัฐฯ จะมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไร
ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถนำพาเศรษฐกิจของประเทศหนีจากการตกหน้าผาทางการคลังได้ทัน
อาจมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม
เพื่อเพิ่มแรงส่งให้แก่เศรษฐกิจ อย่างเช่นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่
3 (QE3) อย่างไรก็ดี
นโยบายการเงินคงไม่สามารถชดเชยการหดตัวทางการคลังในครั้งนี้ได้อย่างเพียงพอ
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การใช้จ่ายในประเทศ (Domestic
demand) จะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริโภคภาคเอกชน
เนื่องจากภาษีเงินได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลงตามโปรแกรม Sequestration ด้วยเช่นกัน
ผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างไร?
ไม่ว่าผลสุดท้ายแล้วสหรัฐฯ
จะสามารถหลีกเลี่ยงการตกหน้าผาทางการคลังได้หรือไม่ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า
เพราะหากพิจารณากรณีที่รัฐบาลสามารถขยายระยะเวลามาตรการลดภาษี
หรือตัดค่าใช้จ่ายออกไปได้อีกครั้ง อาจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ
ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ
จะยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่ได้ลดลง
ซึ่งการลดอันดับความน่าเชื่อถืออาจทำให้เงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ไปยังประเทศอื่นที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีกว่าได้
และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ในทางกลับกัน หากสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลังได้ จะเป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย
และมีโอกาสที่เฟดจะใช้มาตรการ QE3
มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
อ่อนลงและส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอื่นแข็งขึ้น รวมถึงเอเชีย และค่าเงินบาท
ระหว่างการรอลุ้นผลสรุปว่าสหรัฐฯ
จะมีวิธีการจัดการกับหน้าผาทางการคลังนี้อย่างไร
ตลาดการเงินอาจมีความผันผวนเป็นระยะจากความกังวล
เช่นเดียวกับความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป
ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตลาดการเงินโลกรวมถึงประเทศไทยผันผวนมากในช่วงครึ่งปีแรก และถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ชะลอตัวแรง หรือถดถอยจริงก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก
ความเชื่อมั่นการบริโภค และการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น