คอลัมน์ วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 , หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น
การขายทิ้งหุ้นแบบเทกระจาดของกองทุนเก็งกำไรทั่วโลกในตลาดเอเชียครั้งล่าสุดนี้ติดกัน
2 วัน มีลักษณะเหมือนกับการฉายหนังซ้ำเหมือนกับสถานการณ์เมื่อปลายเดือนมีนาคมต่อเมษายนยาวนา
3 สัปดาห์ กล่าวคือ
เป็นการถอนตัวจากตลาดเอเชียเพื่อเอาเงินเก็งกำไรกลับไปยังตลาดสหรัฐ แต่ด้วยเหตุผลต่างกัน
ครั้งเดือนมีนาคม-เมษายนนั้น อ้างเหตุผลว่า
เป็นเพราะหวาดกลัวว่า เฟดฯ จะลดการพิมพ์ธนบัตรในมาตรการ QE ลง ทำให้ซึ่งจะยังผลให้ ภาระหนี้เอกชนที่เฟดฯ
แบกรับอยู่จะกลับคืนสู่ต้นทาง รัฐไม่ต้องแบกเหมือนใน 4
ปีที่ผ่านมา ทำให้การเคลื่อนย้ายทุนเก็งกำไรจากตลาดเอเชียไปสู่สหรัฐ
โดยย้ายจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดตราสารหนี้
ครั้งนี้ อ้างเหตุผลอีกแบบหนึ่ง
คือ เศรษฐกิจเอเชียหลายประเทศ เข้าข่ายขาลง หรือชะลอตัวลง
จนกระทั่งปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์
จะต้องมีมูลค่าต่ำลงไปจนไม่คุ้มกับการเสี่ยงลงทุนอีกต่อไป โดยยกเหตุผลจากการปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในหลายประเทศ
เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และไทย เป็นเหตุสำคัญ
เหตุผลที่เชื่อมโยงตัวเลขเศรษฐกิจประเทศ
เข้ากับการขายหุ้นทิ้งในตลาด
ถูกนำมาเชื่อมโยงด้วยตรรกะที่แม้กระทั่งนักวิเคราะห์ก็นำไปใช้อ้างกันอย่างแพร่หลาย
โดยไม่ต้องรู้สึกว่าผิดถูกอย่างใด
เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความชอบธรรมของการถอนตัวของทุนเก็งกำไรต่างชาติว่าแสดงถึงความไม่ไว้วางใจต่อเศรษฐกิจของเอเชีย
ซึ่งส่วนใหญ่ (ไม่นับญี่ปุ่นและสิงคโปร์)
เป็นตลาดเงินของชาติกำลังพัฒนาที่มีขนาดเล็ก และมีเกราะกำบังป้องกันตัวเองต่ำเพราะขาดประสบการณ์ในการรับมือการไหลเข้าและไหลออกของทุนเก็งกำไร
มุมมองว่าตลาดเก็งกำไรในเอเชีย
ให้ผลตอบแทนต่ำกว่ากลับไปยังสหรัฐ อาจจะเป็นได้ทั้งมายาคติ
หรือเป็นข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียว ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่กระต่ายที่ตื่นตูม
ก็พากันขายอย่างจริงจัง
โดยใช้คำกล่าวอ้างถึงการปรับลดประมาณการของเศรษฐกิจเอเชียโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
0.3% จากเดิม 7.2%
ในกรณีของไทยนั้น ปี 2555 ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 7 หมื่นกว่าล้านบาท
แต่จนถึงล่าสุดในปีนี้ ได้กลายเป็นขายสุทธิไปแล้ว ทำให้เงินลงทุนสุทธิติดลบ 3.6 พันล้านบาทเมื่อสิ้นการซื้อขายวันจันทร์ที่ผ่านมา
ยังขายต่อเมื่อวานนี้อีกถึง 1 หมื่นกว่าล้านบาท
เรียกว่าขายจนเกลี้ยงพอร์ต แล้วยังยืมมาขายเพิ่มจากที่มีอยู่เดิมอีก
ถือเป็นการถอนตัวอย่างสิ้นเชิงของต่างชาติทีเดียว
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การถอนตัวนำเงินกลับของต่างชาติ
จะทำให้เมื่อวานนี้ ค่าเงินบาทไทยอ่อนยวบในรอบ 1 ปี ขึ้นไปเหนือ 31.60 บาทต่อดอลลาร์
และมีโอกาสจะร่วงต่อไปที่ 32
บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายๆในสัปดาห์นี้
โดยข้อเท็จจริง
การถอนตัวของตลาดหุ้นเอเชียของกองทุนเก็งกำไร ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ดัชนี MSCI Asia Pacific
Index ตกต่ำลงไปถึง 7.7%
มากกว่าการตกต่ำของดัชนี S&P 500 ที่ร่วงลงไปแค่ 1.2% และดัชนี Stoxx Europe 600 ที่ร่วงลงไป 1.6%
กองทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้นนอกสหรัฐฯผ่านกองทุน ETFs
มีมูลค่ามากถึง 155.6 แสนล้านดอลลาร์
แต่มาลงทุนในเอเชียประมาณ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หรือคิดเป็น 0.05%
การถอนตัวเพียงเล็กน้อยของกองทุนที่กระจายในตลาดเอเชีย อาจจะไม่กระทบกับตลาดจีน
หรือญี่ปุ่นมากนัก แต่สำหรับตลาดทุนขนาดเล็กอย่างอาเซียน ถือว่ารุนแรงทีเดียว
เพราะกองทุนเก็งกำไรต่างชาติพวกนี้ ถูกถือเป็นกลุ่มขับเคลื่อนตลาดที่มีน้ำหนักชี้นำมากในสายตาของนักวิเคราะห์ท้องถิ่น
การเหวี่ยงกลับของกองทุนเก็งกำไรต่างชาติในช่วงล่าสุดเดือนสิงหาคม
ที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับไตรมาสแรกของปีนี้
ทำให้ชะตากรรมของตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนผกผันยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ
ด้านหนึ่งมีผลทำให้ ราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ถูกเทกระจาดขาย
กลับมามีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน
ส่วนอีกด้านหนึ่ง
การเคลื่อนตัวของกองทุนเก็งกำไรที่ส่งผลสะเทือนสูงเหล่านี้
เป็นการเคลื่อนตัวของทุนส่วนเกินที่มุ่งแสวงหากำไรจากการโฉบเฉี่ยวไปมาโดยที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัยฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆมากมาย
การไหลเข้าไปตลาดไหน ก็ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจประเทศนั้นมีความโดดเด่น
หากไหลออกก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของประเทศนี้ใกล้พังทลาย
กระบวนทัศน์ในการมองทิศทางของตลาดทุน
และตลาดตราสารหนี้ในโลก รวมทั้งตลาดปริวรรตเงินตรา
จึงต้องยืดหยุ่นตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง
ในกรณีของตลาดหุ้นไทย
ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนถือว่ายังคงแข็งแกร่งยิ่งนัก
กำไรครึ่งแรกของปีที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 17%
แม้ว่าจะถูกถ่วงน้ำหนักจากผลพวงของค่าเงินบาทแข็งเกิน
และการปรับฐานสู่ระดับปกติหลังจากที่มีการอัดฉีดเกินปกติของนโยบายรัฐบาลหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปลายปี
2554 ก็ถือได้ว่า
การบิหารจัดการของผู้ประกอบการยืดหยุ่นกับสภาพอย่างแข็งแกร่ง
ข้อสรุปจาก
ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย
ซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นกลาง หลังจากการเปิดเผยตัวเลข จีดีพีไตรมาส 2 ว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล
และยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตที่รุนแรง
จึงอาจจะสร้างขวัญและกำลังใจให้นักลงทุนได้บ้าง
ปล่อยให้ต่างชาติถอนตัวออกไปให้หมด
จะได้ไม่ต้องกังวลว่าพวกนี้จะขายออกไปอีกกี่มากน้อย
เพื่อจะไม่ต้องดูหนังน้ำเน่าซ้ำซาก
ขอขอบคุณที่มา: http://www.kaohoon.com