เกาะกระแส fiscal cliff หรือ
"หน้าผาทางการคลัง"
กันหน่อยค่ะ......เป็นกระแสให้นักลงทุนทั่วโลกจับตากันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง
วันนี้เลยนำบทความจากดร.กอบ มาให้ลองอ่านกันค่ะ ทางออกของปัญหานี้ในมุมมองของดร.มีอยู่ 3 ทาง
แต่สหรัฐจะเลือกทางใด ต้องลุ้นกันต่อไปนะคะ ^^
ทางออกจากหน้าผาการคลัง
ณ วันนี้
สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามองอยู่อย่างใกล้ชิด ก็คือ
ปัญหาหน้าผาการคลังที่กำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยทุกคนรอคอยดูว่า
สหรัฐจะมีทางออกอย่างไรกับปัญหาเรื่องนี้ ทางเลือกมีอยู่ 3 ทาง
ทางแรก คือ
ยอมตกลงไปในหน้าผาการคลัง โดย
(1) ยอมให้นโยบายการลดภาษีชั่วคราวสำหรับคนรวย
ของประธานาธิบดีบุช หมดอายุลงตามที่กำหนดไว้ ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555
โดยอัตราภาษีจะเด้งกลับไปอยู่ที่ 39.6% เช่นเดิม จากระดับ 35% ในปัจจุบัน
(2)
ยอมให้นโยบายการลดภาษีประกันสังคมให้ชนชั้นกลางของประธานาธิบดีโอบามา ครบกำหนด
หมดอายุลงไปพร้อม ๆ กัน และ
(3) ยอมตัดงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลลงบางส่วน
ซึ่ง 3 รายการนี้ เมื่อทำร่วมกันแล้ว จะทำให้สหรัฐลดการขาดดุลการคลังลดลงได้ 6
แสนล้านดอลลาร์ สรอ.
หรือประมาณครี่งหนึ่งของการขาดดุลการคลังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทางที่สอง คือ หลีกเลี่ยง
หลบไม่ยอมตกลงไปในหน้าผาการคลัง
เจรจาฮั้วยอมความกัน
ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน จูงมือเดินถอยหลังกลับออกจากริมหน้าผา
โดยยืดอายุการลดภาษี และชะลอการตัดงบประมาณรายจ่ายออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง
ทำให้ปีหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐจะยังสามารถขยายตัวต่อไปได้
ทางสุดท้าย คือ หาทางสายกลาง
ประนีประนอมระหว่างสองฝ่าย ยอมตกร่วงลงไปในหน้าผาการคลังบ้างบางส่วน
โดยสองฝ่ายช่วยกันเลือกว่า
จะยอมขึ้นภาษีส่วนไหน จะลดรายจ่ายที่รายการไหนเป็นพิเศษ
เพื่อลดระดับการขาดดุลการคลังของสหรัฐลงมาบ้าง แต่ขณะเดียวกัน ไม่รัดเข็มขัดมากจนเกินไป
จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วทางไหนดีกว่ากัน
ทางเลือกแรก สำนัก Congressional
Budget Office ของสหรัฐ ประเมินไว้ว่า
ถ้ายอมตกลงไปในหน้าผาทางการคลังแต่โดยดี ไม่ขัดขืน
เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งหนึ่งในช่วงปีหน้า โดยจะหดตัวประมาณ 0.5%
(ต่ำลงกว่าที่เคยคาดไว้ประมาณ 2.9%) ซึ่งหมายความว่า
การฟื้นตัวของสหรัฐจะหยุดชะงักลง อีกทั้งจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านคน
ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐกลับไปที่ 9.1% อีกครั้งหนึ่ง
ทางเลือกนี้จะส่งผลดีในระยะยาว
หลังจากยอมทนทุกข์ทรมานเรื่องการตกงาน เศรษฐกิจที่ฟื้นไม่ได้ในช่วง 1 ปีข้างหน้า
จนผ่านพ้นไปได้แล้ว ปัญหาหนี้ภาครัฐของสหรัฐจะได้รับการดูแล
โดยหนี้ภาครัฐของสหรัฐที่อยู่ในระดับประมาณ 73% ของจีดีพี
(เฉพาะในส่วนที่เป็นหนี้กับสาธารณชน) ลดลงมาที่ 58% ในช่วง 8 ปีข้างหน้า
เรียกว่าเป็นการยอมเจ็บระยะสั้น เพื่อฐานะที่มั่นคงระยะยาว
ส่วนทางเลือกที่สอง ถ้าไม่รัดเข็มขัด
ไม่ทำอะไรเลย ดันทุรังที่จะขาดดุลกันต่อไป
แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่ถูกกระทบ
แต่สหรัฐจะเป็นหนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเป็น 90% ในช่วง 8 ปีข้างหน้า
และหลังจากนั้น จะพุ่งขึ้นไปถึง 200% ในช่วง 20 ปีข้างหน้า
และอาจลุกลามเป็นวิกฤติการคลัง ที่ต้องแก้ไขในระยะยาว
พูดง่าย ๆ ทั้งทางเลือกแรกและสอง
ต่างไม่ดีกันทั้งคู่ ไม่ว่าจะเลือกไปทางไหน ต่างก็จบไม่ดี ด้วยเหตุนี้
สหรัฐจึงต้องมองหาทางเลือกใหม่
ที่จะสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นกับเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยหาทางออกร่วมกัน ประนีประนอม ยอมรัดเข็มขัดบางส่วนประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.
(กล่าวคือ ยอมตกลงไปในหน้าผาบ้าง 1/3 ของระยะทาง) เพื่อแสดงว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สาธารณะในระยะยาวของตนเอง
และได้เริ่มรัดเข็มขัดบ้างแล้ว และปีถัด ๆ ไป
ก็ค่อยทยอยรัดเข็มขัดในส่วนที่เหลืออีกปีละ 2 แสนล้านดอลลาร์
โดยในรายละเอียดแล้ว
ภาษีที่ควรกลับขึ้นไประดับเดิม ก็คือ ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับกลุ่มคนรวย
การปิดช่องโหว่ที่คนรวยใช้ในการหลีกเลี่ยงภาษี นอกจากนี้
เนื่องจากรายจ่ายส่วนสำคัญของภาครัฐจะมาจากรายจ่ายเพื่อโครงการประกันสังคมและประกันสุขภาพ
ก็คงต้องหารือกันว่า จะลดรายจ่ายในส่วนนี้อย่างไร อาทิ
เพิ่มอายุขั้นต่ำก่อนที่ผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิจากโครงการประกันสุขภาพของภาครัฐ
จาก 65 ปี เป็น 67 ปี
รวมไปถึงการลดอัตราการปรับเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์ของโครงการประกันสังคมในแต่ละปีให้ต่ำลงจากในอดีต
เป็นต้น
หากตกลงกันได้เช่นนี้ หน้าผาทาง
การคลังก็จะถูกแปลงให้เป็น “เนินเขาทาง
การคลัง” ที่จะสามารถกลิ้งลงมา
และช่วยลดผลกระแทกที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไปบางส่วน
อันจะทำให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบอ่อน ๆ สามารถฟื้นต่อไปได้
ขณะเดียวกันก็จะสร้างความเชื่อมั่นเรื่องเสถียรภาพทางการคลังของสหรัฐในระยะยาว
อันจะช่วยให้สถาบันจัดอันดับเครดิตลดความกังวลใจ
และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐเอาไว้ ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ
==
ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ประจำวันที่ 16 พ.ย. 55 คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร.กอบ