หน้าเว็บ

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

6 ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงิน


1) จัดทำบัญชี และงบการเงิน

การเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินก็เหมือนกันกับการเดินทางทั่วไปที่ต้องมีแผนที่นำทาง ดังนั้นก่อนจะเริ่มเดินทาง คุณเองควรจะรู้ก่อนว่า ปัจจุบันคุณอยู่ ณ จุดไหนของคำว่าอิสรภาพทางการเงิน”  ลองจัดทำงบการเงิน

2) ตั้งเป้าหมาย และวางแผน

เริ่มต้นจากอิสรภาพทางการเงินขั้นพื้นฐาน 6 ประการ คือ
เศรษฐกิจพอเพียง
เก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ (ของรายรับทั้งหมด)
สำรองเงินไว้ใช้จ่าย (อย่างน้อย 6 เดือน)
ประกันชีวิต สุขภาพ และอุบัติเหตุ
เรียนรู้ตลอดชีวิต
บริจาคตามกำลัง

ลองพิจารณาดูว่าชีวิตของท่านบรรลุเป้าหมายพื้นฐานในแต่ละข้อข้างต้นหรือยัง ถ้ายังให้กำหนดหัวข้อเหล่านี้เป็นเป้าหมาย ที่สำคัญต้องกำหนดวิธีการ กรอบเวลา รวมถึงประเมินภาพในอนาคตไว้ด้วย

ส่วนใครที่มีอิสรภาพการเงินขั้นพื้นฐานแล้ว ก็อาจตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปได้ ไม่ว่ากัน

3) ลงทุนในการเรียนรู้

“High Understanding, High Returns” ยิ่งคุณเข้าใจธุรกิจที่คุณลงทุนมากเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถสร้างกำไรจากมันได้มากเท่านั้น จงเรียนรู้ให้หนักขึ้น เพื่อจำกัดความเสี่ยงทั้งมวลที่อาจจะเกิดขึ้น โลกไม่ได้ยากเย็นอย่างที่เราคิด แต่ที่ใครหลายคนคิดว่ามันยาก เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยแบ่งเวลามาสนใจใยดีกับมันต่างหาก

จงแบ่งเวลาให้กับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ อย่าจำกัดเฉพาะแต่ในห้องเรียน จงมองโลกให้กว้างเพื่อที่ท่านจะได้เห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่อีกมากมายบนโลกใบนี้

เราลงทุนในการเรียนรู้ด้วยอะไรบ้าง ?

เวลา
นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องพิจารณา ปัจจุบันคุณให้เวลากับการเรียนรู้สักแค่ไหน ถ้าคิดว่ายังน้อยไป จัดแบ่งเวลาในการเรียนรู้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะได้รับมากขึ้น

ความคิด
คนสองคนนั่งเรียนคอร์สเดียวกัน คนหนึ่งเอากลับมาคิดต่อยอดไปสู่การกระทำ อีกคนได้แค่นั่งดีใจว่ารู้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสองคนนี้ต่างกันมหาศาล

สายสัมพันธ์
การลงทุนในสายสัมพันธ์ ก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย คนหลายคนมักคบหา หรือคิดถึงคนอื่นยามที่ตัวเองเดือดร้อนเท่านั้น เรียนรู้ที่จะใช้เวลากับผู้อื่น แบ่งปันความรู้ ความคิด ความช่วยเหลือให้กับคนรอบข้างโดยเฉพาะคนที่แตกต่างจากคุณ เพราะมันจะช่วยให้โลกของคุณกว้างขึ้น ไม่เพียงแค่ความรู้ แต่มันคือโลกแห่งความรัก และความเอื้ออาทรกัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เงินก็ซื้อหาไม่ได้

ความรู้
เข้าร่วมทำงานกับองค์กร หรือชมรมที่ท่านสนใจ เพื่อสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดบูรณาการทางความรู้และความคิดได้เป็นอย่างดี

การตั้งคำถาม
คำถามที่ดีเป็นการสร้างโจทย์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ชีวิต ในทางตรงกันข้าม คำถามแย่ ๆ ก็ทำให้คุณเป็นคนในด้านตรงกันข้ามได้เช่นกัน

ลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้
ทำไม เราไม่เกิดมารวยเหมือนคนอื่นบ้าง
ทำไม เราไม่โชคดีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง

เริ่มต้นใหม่ ตั้งคำถามที่ดีให้กับตัวเอง แล้วคุณจะได้คำตอบที่ดีกลับคืนมา

ฉันจะประสบความสำเร็จในชีวิตก่อนอายุ 35 ปี ได้อย่างไร

คำถามใหม่ ๆ จะนำคุณไปสู่การลงทุนครั้งใหม่ในชีวิต จงใช้ชีวิตกับคำถามใหม่ ๆ เลิกถามคำถามเก่า ๆ

หุ้นตัวไหนน่าซื้อ
กู้เงินแบงค์ไหน ดอกเบี้ยต่ำสุด
มีเงินเก็บ 50,000 ทำธุรกิจอะไรดี

สิ่งที่คุณถาม คือ สิ่งที่คุณจะได้รับ

อื่น ๆ อีกมากมาย (ลองคิดต่อเองนะครับ)

4) แวดล้อมตัวคุณ ด้วยคนที่คิดแบบเดียวกัน

คนเราเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมเสมอ อิสรภาพทางการเงิน เกิดได้ทันทีที่คุณเป็นผู้เลือกกระทำ ดังนั้น จงเลือกสภาวะแวดล้อมที่จะพาชีวิตคุณไปในทางที่ดี

5. ลงมือปฏิบัติ บันทึกผล

บิดาของความสำเร็จ คือ การกระทำคำพูดนี้ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นจริงเสมอ

ลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ จดรายละเอียดของทุกการกระทำสำคัญ ๆ ไว้ เพื่อเปรียบเทียบ และปรับแก้แผนงานสู่อิสรภาพทางการเงิน

6. ทบทวน

ตรวจสอบผลการปฏิบัติ กับแผนที่วางไว้ ว่าเป็นไปตามแผนแค่ไหน ต้องปรับแก้อะไร ในขั้นตอนนี้อาจปรึกษาผู้ประสบความสำเร็จเพื่อช่วยทบทวน และให้คำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

หัวข้ออะไรบ้างที่ต้องทบทวน

ความคิด
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบตลอดเวลา หมั่นคอยเช็คและตรวจสอบความคิดของเราถูกต้อง หรือสอดคล้องกับแนวทางสู่อิสรภาพทางการเงิน หรือไม่

จิตใจ
ตรวจสอบจิตใจทั้งก่อนและหลังตัดสินใจใช้จ่าย หรือลงทุน จำเอาไว้ว่า การลงทุนที่ทำให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขตั้งแต่ใส่เงินลงไป นั่นก็ถือว่า ขาดทุน เรียบร้อยแล้ว

งบการเงิน
ตรวจสอบแผนที่ทุกครั้ง โดยอาจทำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อคอยตรวจสอบว่า เราเดินออกนอกลู่นอกทางหรือเปล่า หรือเราเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินเพียงใด

เริ่มต้นตรวจสอบตัวเอง จัดทำบัญชี และวางแผนสู่อิสรภาพทางการเงินตั้งแต่วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง จงจำเอาไว้ว่าอิสรภาพทางการเงิน เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ ของทุก ๆ คน


ขอขอบคุณ www.BLOGGANG.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น