หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตีโจทย์เงินทุนเคลื่อนย้าย ระวัง Sudden Stock


ผลกระทบจากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบผ่านการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้ราคาลดลงควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในให้ฟื้นตัวหลังประสบวิกฤต เป็นทั้งดอกไม้และก้อนอิฐที่โยนเข้ามาให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเอเชีย กลายเป็นประเด็นร้อนเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย

เมื่อเงินหมุนไป อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทเทียบดอลลาร์แข็งค่า สร้างปรากฏการณ์กลัวเงินร้อนจะก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจซ้ำรอย 16 ปีก่อนด้วยแล้ว ในฐานะสถาบันการศึกษาและเป็นเสาหลักของแผ่นดิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเสวนาเรื่อง "ผลกระทบของเงินทุนเคลื่อนย้าย และทางเลือกเชิงนโยบาย" ขึ้น

การเสวนาครั้งนี้เลือกผู้ร่วมเสวนาจากแบ็กกราวนด์ที่จะทำให้อรรถรสของการพูดคุยมีความน่าสนใจมากขึ้น

6 ปัจจัยดันเงินไหลเข้า

เริ่มจาก "ดร.จอน วงศ์สวรรค์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายเฮดจ์ฟันด์ สายงานลงทุนและค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในยุคของ "อลัน กรีนสแปน" ก่อนที่สหรัฐจะเดินหน้าเข้าสู่แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส เปิดประเด็นผ่านการอธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดทุนเคลื่อนย้ายจากมุมมองของนักลงทุนว่ามี 6 ข้อ

ประกอบด้วย
1) ปัจจัยเรื่องผลตอบแทน ที่ทุนจะไหลจากที่ผลตอบแทนต่ำไปสู่ที่มีผลตอบแทนสูง
2) ปัจจัยการบริหารความเสี่ยงด้วยการสร้างความหลากหลายในการลงทุน (Diversification) ให้ไม่กระจุกตัวในแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากขึ้น
3) ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ซึ่งระดับความเสี่ยงที่ต้องการ ณ จุดต่าง ๆ จะนำไปสู่การปรับพอร์ตของนักลงทุน

โดย 3 ปัจจัยแรกที่กล่าวมานั้นเป็นการมองลักษณะการลงทุน ส่วนอีก 3 ปัจจัยหลังจะทำให้เกิดการลงทุนจริง ๆ ซึ่งประกอบด้วย กฎหมาย ต้นทุนในการซื้อ-ขาย และความสามารถในการรับทราบข้อมูล

"ถ้าประเทศใดมีการผ่อนคลายกฎหมายกฎเกณฑ์การลงทุน มีต้นทุนการซื้อและขายที่เข้าง่าย-ออกง่าย ความคล่องตัวสูง หรือมีการเปิดเผยข้อมูลมาก เงินก็จะไหลเข้ามาก" ดร.จอนกล่าว

ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาอีกท่าน "ดร.ปิติ ดิษยทัต" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อครั้งทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ชื่อ "เบน เบอร์นันเก้" ซึ่งปัจจุบันคือผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอธิบายว่า สถานการณ์ปัจจุบันเกิดขึ้นจากปัจจัยเชิงโครงสร้างกับปัจจัยเชิงวัฏจักร ในแง่ปัจจัยโครงสร้าง ยามสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปกำลังมีปัญหา ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียมีความสำคัญในเศรษฐกิจโลก และยังมีช่องว่างของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว จึงทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนในประเทศเหล่านี้สูงขึ้น

"เมื่อพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้น มีตัวอย่างน่าสนใจคือ ถ้าคุณถือเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 1999 มาถึงปี 2011 แล้วนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนในอินเดียหรืออินโดนีเซียในเวลานี้ เงินที่ถืออยู่จะเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐ คือเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า ถ้าลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่ถ้าลงทุนในสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วเงินจะมีมูลค่าอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการขยายตัวและอัตราผลตอบแทนสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว"

ส่วนปัจจัยเชิงวัฏจักร ในภาพใหญ่เป็นผลมาจากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ในภาพย่อยเป็นความรู้สึกต่อความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนที่มองว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำ เศรษฐกิจดี เงินจึงไหลเข้ามา

ทุนเคลื่อนย้ายเสี่ยงทั้งเข้าทั้งออก

แล้วเมื่อเกิดเงินทุนไหลเข้า จะก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่ 3 ด้าน กล่าวคือ

1) ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่เป็นมา ซึ่งเรื่องนี้ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องปกติของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีแนวโน้มค่าเงินแข็งค่าขึ้น ส่วนวิธีที่จะดูแลคือการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการเข้าแทรกแซงของแบงก์ชาติ

2) มีผลทำให้สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น จนเสี่ยงต่อการเกิดการโป่งพองของราคาสินทรัพย์ ซึ่งประสบการณ์จากหลายประเทศชี้ชัดว่า เงินทุนจะเคลื่อนย้ายไปพร้อมกับ

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทาง ยิ่งเศรษฐกิจดี เงินยิ่งไหลเข้า แต่ความเสี่ยงอยู่ที่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เงินไหลเข้าไปเสริมเศรษฐกิจให้บูมขึ้น แต่ถ้าเงินไหลออกจะน่าเป็นห่วง

ด้วยเหตุนี้ในยามเศรษฐกิจดีจึงต้องใช้นโยบายการเงินผสมกับนโยบายกำกับสถาบันการเงิน (Macro prudential) เพื่อดูแลภาคการเงินให้แข็งแกร่ง และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ที่ปล่อยสินเชื่อ

ส่วนผลกระทบข้อ
3) การที่เงินไหลเข้าแล้วอยู่ ๆ ก็แห่กันไหลออก จนทำให้ตลาดหุ้นร่วงอย่างฉับพลัน หรือ Sudden Stock จนเป็นวิกฤต ดังนั้น การพิจารณาประเภทเงินทุนที่ไหลเข้ามาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเข้ามาเป็นเอฟดีไอไม่น่าห่วง แต่ถ้าเข้ามาแบบเป็นเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศ อันนี้ต้องหามาตรการดูแล

นอกจากนี้ "ดร.ปิติ" ยังได้เสนอแนวทางรับมือหากเกิดการไหลออกของเงินจนทำให้ตลาดหุ้นร่วงฉับพลันว่า ต้องเริ่มจากการทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง เพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาต่อมา คือ ต้องทำให้มีพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) ที่เพียงพอสำหรับการเข้ามากอบกู้เมื่อเกิดวิกฤต

ดังนั้น คลังจึงต้องรักษาพื้นที่การคลังเพื่อให้ยามเกิดสถานการณ์เลวร้าย แบงก์เจ๊ง คลังยังสามารถเข้าไปช่วยรับภาระได้ข้อเสนอที่ 3 ต้องพัฒนาปัจจัยเชิงสถาบันที่เข้มแข็ง เพื่อให้ตลาดมีการพัฒนา และเมื่อเกิดปัญหาปัจจัยเชิงสถาบันจะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ได้ แล้วการสร้างปัจจัยเชิงสถาบันให้แข็งแกร่งจะส่งผลดีในระยะยาว เมื่อวิกฤตคลี่คลาย เงินทุนก็จะกลับเข้ามา เพราะนักลงทุนที่มองระยะยาวจะมองไปที่ปัจจัยพื้นฐานของประเทศมากกว่า

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
 http://www.prachachat.net/news_detai...&subcatid=0902

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น