หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คุณสมบัติที่เหมือนๆ กัน 8ประการ ของนักลงทุนชั้นเซียน


คุณทราบหรือไม่ว่า... ผู้ลงทุนระดับ ปรมาจารย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีคุณสมบัติที่เหมือนๆ กันอยู่ 8 ประการด้วยกัน คือ

1). ผู้ประสบความสำเร็จในการลงทุนมักมีความกระตือรือร้น สนใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว นอกจากข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงแล้ว พวกเขายังให้ความสนใจกับสิ่งอื่นๆ ด้วย นั่นเป็นเพราะโลกในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง เช่น กรณีวิกฤต ต้มยำกุ้งที่เกิดกับประเทศไทย ปี 2540 นั้นได้ส่งผลสะเทือนต่อระบบการเงินไปทั่วโลก เป็นต้น

2). ผู้ลงทุนที่ดีควรจะสวมวิญญาณนักสืบ เป็นคนที่ช่างสังเกต ใส่ใจในรายละเอียด รวมทั้งต้องจดจำข้อมูลที่สำคัญๆ ของหุ้นต่างๆ ได้ ยิ่งคุณจำรายละเอียดได้มากเท่าใด คุณจะยิ่งมีความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะ รวมทั้งประเมินผลกระทบภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น กล่าวกันว่าWarren Buffett นั้น เป็นคนช่างสังเกตและสามารถจดจำรายละเอียดของข้อมูลต่างๆ ของบริษัทที่เขาไปลงทุนได้มากมายอย่างน่าทึ่ง ราวกับว่าตัวเขาเป็นเหมือน สารานุกรมเคลื่อนที่ทีเดียว

3). ผู้ลงทุนที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีความคิดที่เป็นอิสระ และไม่ยอมให้ความคิดของตัวเองถูกครอบงำโดยกระแสของคนส่วนใหญ่ เพราะว่าความผิดพลาดเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นพฤติกรรมที่สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้า

4). ผู้ลงทุนที่ดีจะต้องมีความอดทนในการรอคอย เพราะโอกาสดีๆ หรือความคิดดีๆ สำหรับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน เช่น Warren Buffett ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวินัยในการลงทุนสูงมากเขาเคยบอกว่าเคล็ด (ไม่) ลับของความสำเร็จในการลงทุนของเขาก็คือต้องรู้จักอดทนอดกลั้น รอคอยโอกาส ไม่ตัดสินใจตามกระแส และเมื่อโอกาสนั้นมาถึงต้อง หวดให้สุดแรงเพราะโอกาสดีๆ ที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตของคนเรานั้น มีไม่บ่อยครั้งนัก

5). โดยปกติ ความลึกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเรามีสมาธิ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพ่งความคิดให้แน่วแน่อยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Focus) และสามารถคิดได้อย่างมีอิสระ ตัวอย่างเช่น George Soros จะไม่ยอมให้ใครเข้ามารบกวนเวลาที่เขาทำการซื้อขายอยู่ แม้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงเพราะมีข่าวใหญ่บางอย่างเข้ามา กระทบ เขาก็ยังไม่ยอมให้ใครคนไหนเข้าพบเพื่อมาสรุปข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบให้ฟัง จนกว่าเขาจะได้ จัดการกับการลงทุนของเขาให้เรียบร้อยเสียก่อน

6). ในการลงทุน ผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมของไทย เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจต่างๆ รวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่สำคัญต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน มิฉะนั้นเขาจะ ไม่สามารถคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ หรือไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อลดทอนความเสียหายได้

7). ผู้ลงทุนระดับปรมาจารย์ทุกคน รักอาชีพการลงทุน พวกเขามีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่ทำ มากกว่า จะคิดเรื่องของผลตอบแทนที่ได้ Warren Buffett เคยพูดว่าตัวเขาเองว่า... Enjoy the process rather than the proceedsรู้สึกสนุกกับการทำให้ ได้ผลมากกว่าจะคำนึงถึง ผลได้

8). ผู้ลงทุนที่ประสบกับความสำเร็จในการลงทุนนั้น ต้องเปิดใจพร้อมที่จะยอมรับข้อมูลใหม่ๆ และโลกทัศน์ที่ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ต้องกล้าที่จะยอมรับความจริง ถ้าหากพบว่ามีการตัดสินใจผิดพลาดก็ต้องยอม ตัดขาดทุน” (Cut Losses) เสียแต่เนิ่นๆ แต่เมื่อตัดสินใจถูกต้องแล้ว ก็ต้องรู้จักปล่อยให้กำไรเพิ่มพูน” (Run Profits) ด้วยการไม่รีบขายหุ้นนั้นทิ้งไปด้วย

เครดิต TSI

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เกร็ดความรู้เชิงลึกที่ "จอร์จ ตัน" เซียนหุ้น 1,000 ล้าน ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน


"จอร์จ ตัน" เซียนเหนือเซียน
โดย Biz Week

ในบรรดา "เซียน" ในตลาดหุ้นเวลานี้ "จอร์จ ตัน" หรือ เอกยุทธ อัญชันบุตร เปิดเผยว่า คนที่เล่นหุ้นระดับ 1,000 ล้านขึ้นไป มีไม่เกิน 30 คน ที่เล่นหุ้นระดับ 2,000 ล้านบาทขึ้นไปมีอยู่ 4-5 คนในตลาด

"พวกนี้จะรู้จักกันเองผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมาชนกันในตลาด จะรู้เลยว่าซื้อขายสไตล์นี้ใครเล่น ถ้าเห็นลักษณะการขายที่รุนแรงออกมา จะรู้ได้ว่าเขาถือ "ต้นทุนต่ำ" ได้กำไรกลับออกไปเยอะ คนพวกนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนรัฐบาล"

รายใหญ่จะวนเวียนกับโบรกเกอร์ 5-6 แห่ง ใครก๊วนใคร หุ้นตัวนี้ "ทุ่น" ของใครสามารถยกหูเช็คข้อมูลง่ายมากผ่านโบรกเกอร์ที่ตัวเองใช้บริการ ข่าวสารสำหรับรายใหญ่ค่อนข้าง "แม่นยำ" แต่บางครั้งก็มี "ข่าวลวง" ถูกปล่อยออกมาเช่นเดียวกัน

"การลากหุ้นบางครั้งจะลากครั้งละ 2-3 มือ(ตัว)พร้อมกัน พวกนี้จะมี "วอร์รูม" (ห้องปฏิบัติการ) บางกลุ่มชอบไปคุยกันในร้านอาหารว่าจะเล่นตัวไหนดี"

ตลาดหุ้นปี 2546 เป็นตลาดหุ้นวัดฝีมือเซียน ถ้า "ขาใหญ่" คนไหนกำไรไม่เกิน "เท่าตัว" ของทุนที่ลง ถือว่าเป็น "หมู" มือไม่ถึง แต่ในปี 2547 หนังคนละม้วน...หุ้นเล่นยากกว่าปีที่แล้วมาก

ชื่อย่อถูกเรียกขาน และรู้กันเองในหมู่เซียน ภาษาที่ "เซียน" ใช้กันในตลาด เอกยุทธ เล่าให้ฟังว่า คนที่ตกใจรีบขายหุ้นราคาถูกออกมาเขาเรียกว่า "ขายหมู" คำว่า "ซื้อยกไม้" หมายถึงการเก็บหุ้นเพื่อไล่ราคา "ทุ่นใครว่ะ" หมายถึง "หุ้นตัวนี้ของใคร" เช่น ทุ่น "นาย_ก" ปีที่แล้วเป็นหุ้นที่ฮิต คนเชื่อถือมาก

กฎการทำกำไรของเซียน "จังหวะ" นั้นสำคัญที่สุด เอกยุทธบอกว่า คุณต้องรู้วิธีเข้า และวิธีออก แต่ไม่ใช่รู้วิธีเข้าๆ ออกๆ คนที่เข้าเร็วออกเร็วไม่มีทางรวยหุ้น..."เชื่อผม!!!"

จังหวะตลาดสำคัญมากในการกำหนด "กำไร" ในช่วงที่ตลาดหุ้น "ขาลง" หรือ"ไซด์เวย์" รายใหญ่ที่ชอบกินคำใหญ่ๆ จะถอนตัว พวกที่เล่นจะใช้วิธี "วิ่งราว" หรือ "วิ่งเร็ว" กำไร 2-3 ช่อง (ช่วง) ราคา..."กูหนี"

"ช่วงที่จังหวะตลาดไม่ดี เวลาไล่หุ้นเขาจะ "ซื้อขึ้น" จะใช้วิธีกวาดทีเดียว 3-4 ช่อง ล่อพวกตามแห่ ถ้าอยู่ดีๆ ช่อง Offer หายไป 3-4 ช่อง คนจะรีบคีย์คำสั่ง Bid (ซื้อ) ตามเข้ามา จากนั้นเขาจะลากขึ้นไป "ปล่อยของ" เหลือกำไร 2-3 ช่องก็ทิ้ง รายใหญ่ที่เล่นหุ้นในลักษณะนี้เขาเรียกว่าพวก "ฟาสต์ฟู้ด" (กินเร็ว) กินคำเล็กแล้วรีบออก"

เอกยุทธ ย้ำว่านักเล่นหุ้นที่มือระดับเซียน เขาไม่มานั่งดูเทคนิคแล้วซื้อๆ ขายๆ แต่เขาจะเก็บข้อมูลหุ้นเป้าหมาย ต้องรู้หมดทุกเรื่องเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้น "Free Float" (จำนวนหุ้นหมุนเวียน)ในตลาด "หน้าตัก" เจ้าของหุ้น ดูว่าเจ้าของหุ้น "เซียน" แค่ไหนถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วติดต่อขอนัดคุย จากนั้นถึงมาเลือกกลยุทธ์ในการเก็บหุ้นว่าจะใช้วิธี "ทุบ" หรือจะค่อยๆ เก็บ

"ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับขบวนการสร้างข่าว"

เขาเล่าว่า นักเล่นหุ้นที่พบมีหลากหลายประเภท ทั้งดูกราฟ ดูเป้าหมายราคา มีจุดตัดลากกันมั่วไปหมด แล้วก็มีอีกประเภทหนึ่งฟังข่าวลือในตลาดอย่างเดียว พวกนี้สั่งซื้อหุ้นยังไม่รู้เลยว่าบริษัททำธุรกิจอะไร ประเภทนี้ในตลาดหุ้นมีเยอะ..."เจ๊งลูกเดียว"

"ประเภทเซียนตัวจริง ข่าวลือมากูไม่สนใจ ส่วนผมชอบ "ขี่หุ้น" ก็ไม่รู้ว่าจัดอยู่ประเภทไหน ผมจะให้น้ำหนักกับ "วอลุ่ม" มากกว่าสัญญาณทุกอย่าง หุ้นไม่มีวอลุ่มผมไม่เล่น ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคนิค รู้ว่าตัวไหนกำลังถูกเก็บก็จะเข้าก่อน เวลาออกก็จะหนีก่อน"

หุ้นที่เอกยุทธเล่นจะเลือกหุ้นที่มีโอกาสขายทำกำไรมากกว่า 10% ขึ้นไป จังหวะที่ตลาดไม่ดีเขาจะออกจากตลาด เพราะฉะนั้น กำไรมากหรือน้อยมันบอกเป็นกฎตายตัวไม่ได้ ต้องดูแนวโน้มของหุ้น ดูแนวโน้มตลาดว่ามันขึ้นมาแล้วกี่แต้ม(จุด)

"ช่วงที่ขึ้นจาก 605 แต้มขึ้นไป 800 แต้ม ใช้เวลา 2 เดือน ตลาดกำลังบ้าเลือด ช่วงนี้ผมได้กำไรเยอะมาก ไปเก็บไว้ก่อนช่วง 600-605 จุดเทหมดหน้าตัก"

ในการลงทุนของเอกยุทธ จะซื้อครั้งละไม่เกิน 4-5 ตัวมากที่สุด หุ้นที่เขาเล่นมีกฎตายตัวว่าต้องมีสภาพคล่องสูง และมีวอลุ่มแน่น (เท่านั้น)...."เช่น PTT BANPU ผมได้กำไรมาเยอะ" ช่วงนั้นจะเข้าแต่ตัวใหญ่ๆ ตัวละหลายร้อยล้านบาท

เอกยุทธ บอกว่า พวกกองทุนใหญ่ๆ ในต่างประเทศที่เข้ามาเล่นหุ้นไทย มันจะวนเวียนมาเจอกันในตลาด เขาเคยเจอ "จอร์จ โซรอส" มาแล้วหลายตลาด ไปเจอกันที่ลอนดอน ตอนไปทุบค่าเงินปอนด์

"ตอนจอร์จ โซรอสทุบเงินบาทปี 2540 ผมอยู่มาเลเซีย ช่วงนั้นหายนะประเทศไทยผมอยู่ข้างนอกมองเห็นหมด ยังโทรมาบอกเพื่อนๆ ว่ามึงขายทรัพย์สินให้หมด เก็บเงินสดไว้เดี๋ยวจะได้ซื้อของถูก"

ถ้าคุณอยากเป็นรายใหญ่ เขาย้ำว่า กฎของรายใหญ่มีเพียง 2 ข้อเท่านั้น หนึ่ง คุณต้องมี "เงินสด" ติดกระเป๋า กับอีกข้อ ?อย่าโลภ? (เด็ดขาด)

"ถ้ารู้ว่าเข้าจังหวะผิดต้อง "ทิ้ง? เขาเรียกว่า Cut Loss (ตัดขาดทุน) และ Let Profit Run (ปล่อยให้กำไรวิ่งต่อไป) ช่วงที่หุ้นกำไรดีราคากำลังขึ้น ผมจะไล่ราคาตลอด สมมติว่าราคา 2 บาท กำไรเยอะแล้วล่ะ แต่ผมจะไม่ขายเลย จะเฝ้าหน้าจอตลอดว่าจะหนีหรือไม่หนี ช่วงนี้จะไม่ให้เด็กดูเลย

....ถ้ามันกลับหัวลงมาที่ 1.90 บาท..."ผมเลิก" ถ้าไปต่อที่ 2.20 ผมจะยังตามอยู่ วิธีการคือจะขยับเป้าหมายขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าหักหัวลงมา 2 บาทผมถึงจะขาย แต่ถ้ามันไม่ลงไปต่อ 2.50 ถ้า ลงมา 2.30 ผมขาย แต่ถ้า 2.50 ยืนได้ เป้าของผมก็ขยับไป 2.80 คือ ผมจะ Let Profit Run ตลอด ผมจะไม่ Cut เลย"

หลักในการขายหุ้น "ขาขึ้น" เอกยุทธ บอกเคล็ดลับว่า จะต้องปรับราคาขายอยู่ตลอด ถึง 2 บาทผมจะกำไรมากแล้ว แต่ถ้าราคายังวิ่งต่อ ผมจะไม่ขายเด็ดขาด ใครจะมาด่าว่าโง่ก็ไม่สน เพราะไม่รู้จะขายทำไม เพื่อให้ Let Profit มัน Run ไปตลอด

"แต่เมื่อใดที่มันเริ่มหันหัวกลับ...ผมเลิก ทุกราคาผมขายหมดจะไม่รอ และไม่เสียดายเงิน 5 สตางค์ 10 สตางค์ ทุกช่องที่มีอยู่จะโยน (ขาย) ทิ้งหมดเลย สมมติว่าถ้าราคา 2 บาทลงมา 1.80 ทุกราคาที่มี 1.80 บาทผมทิ้งหมด แต่ถ้าขึ้นต่อ 1.80 ผมไม่ขายแล้ว รายใหญ่เขาเล่นกันอย่างนี้"

เอกยุทธให้นิยามของ?ความโลภ? ในมุมมองของเขาว่า คนที่โลภคือคนที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ประเมินภาวะตลาด เห็นคนอื่นได้ก็อยากได้ด้วย คุณอย่าคิดว่าหุ้นมันขึ้นเองโดยธรรมชาติ มันขึ้นเพราะ "ดีมานด์" มันขึ้นเพราะ "ความเชื่อ" 2 ปัจจัยนี้เท่านั้น

"ผมยกตัวอย่างเวลาคุณผ่านสี่แยกราชประสงค์ คุณยกมือไหว้พระพรหม เพราะคุณเชื่อถือ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่ง คุณผ่านประตูน้ำคุณเห็นตึกใบหยก ถ้าคุณยกมือไหว้ ที่นั่นก็ "ศักดิ์สิทธิ์" เหมือนกับการเล่นหุ้น คุณซื้อเพราะคุณเชื่อ!

....ผมจะบอกว่าคุณเชื่อได้ แต่อย่างมงาย ผมเชื่อว่ามันจะขึ้นผมก็ไม่งมงายว่ามันจะขึ้นไปจนสุดยอด เพราะไม่มีอะไรขึ้นไปสุดยอดแล้วไม่มีลง ไม่มีใครขายหุ้นได้ในราคาสูงสุด ผมเองเล่นหุ้นมาเป็นสิบๆ ปี เคยขายหุ้นจุดสุดยอดไม่กี่ครั้ง ซึ่งมันต้องฟลุ้คจริงๆ

....เพราะฉะนั้นบางคนกำไร 10-20 สตางค์ก็ขายแล้ว คือ "Cut Profit" (ตัดกำไร) แต่หุ้นตกลงมา 50 สตางค์ Let Loss Run(ปล่อยให้ขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ) ไม่ยอมขาย ลงมาอีกก็ไม่ยอมขาย หวังว่ามันจะกลับไปที่เก่า เล่นอย่างงี้เจ๊งแน่ๆ"

เขากล่าวว่า ระดับมืออาชีพจริงๆ เขาจะไม่มีกฎอะไรตายตัว เช่น หุ้นลงมา 50% แล้วต้องซื้อ หรือขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์แล้วต้องขาย...."ผมว่ามันเพ้อเจ้อ" หรือพวกที่ชอบซื้อหุ้น "ถัวเฉลี่ยต้นทุน" เขาก็จะไม่ทำ พวกนี้จะตายช้าๆ สุดท้ายก็ตายเหมือนกัน เล่นหุ้นขาลงซื้อถัวเฉลี่ยไม่ได้...ต้อง Cut Loss ทิ้งอย่างเดียว

จุดสังเกตของหุ้นที่ถูกดึงขึ้นมาเล่นนานๆ หรือ "ลากยาว" มักจะมีการสร้าง Story (เรื่องราว) ขึ้นมาก่อนเขายกตัวอย่างกรณีหุ้น ITV ราคาขึ้นมาจาก 6 บาทวิ่งไปที่ 12 บาท หลังจากจัดงานใหญ่ครบรอบ 20 ปี ก่อตั้งบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น ระหว่างวันที่ 27- 29 มิถุนายน 2546 ที่เมืองทองธานี

ช่วงที่ราคาปรับขึ้นจาก 12 บาท วิ่งไปถึง 18 บาท เล่นข่าว ITV ได้ลดค่าสัมปทานทั้งๆ ที่ข่าวจริงยังไม่ออกมา ช่วงราคา 18 บาท ถึง 32 บาท เล่นข่าวขายหุ้นเป็นการเฉพาะเจาะจง (Private placement) ให้แก่บริษัท กันตนา กรุ๊ป และนายไตรภพ ลิมปพัทธ์

"ผมเข้า ITV ตอน 5 บาทกว่าแล้วเลิกตอน 8 บาทกว่า ใครจะไปรู้ว่าประเทศนี้ดีจริงๆ รอบที่สองผมเข้า 12 บาทกว่า พอ 32.50 บาท ผมเลิกขายทิ้งหมด เขาปล่อยข่าวว่าจะลากไป 40 ใครจะอยู่ก็อยู่ ตอนนั้นผมบอกเพื่อนว่า...กูหนีก่อน ตอนขาย N-PARK ก็เหมือนกันช่วงประกาศลดทุน แล้วเพิ่มทุน ผมทิ้งหมด อะไรที่ไม่ชัวร์ต้องทิ้งก่อน"

เอกยุทธเล่าว่า วิธีการของรายใหญ่บางกลุ่มซึ่งเขาถือว่า "สกปรก" ที่สุด คือ จับบริษัท "เน่า" แต่งตัวแล้วนำมาซื้อขายในตลาด หุ้นเน่าจะมาจาก 2 แหล่ง จากหมวด Rehabco(ฟื้นฟูกิจการ) และผ่านเข้ามาทาง "ไอพีโอ" (หุ้นจอง)

ขบวนการจะเริ่มจากซื้อบริษัทที่ "เจ๊ง" ไปแล้วอาจจะอยู่ในตลาด หรือไม่ได้อยู่ในตลาด แต่ต้องมีขนาดที่ใหญ่หน่อยระดับหลายๆ ร้อยล้านบาทขึ้นไป เล็กๆ จะทำไม่คุ้ม ระดับที่เขาสนใจจริงๆ คือระดับ 2,000-3,000 ล้าน มันเห็นน้ำเห็นเนื้อ

"ผมอยากจะเปรียบเหมือนกับเอาของเน่าๆ มาต้มให้ร้อน กินดูก็รู้ว่าเน่า หุ้นพวกนี้ราคาจะพุ่งแรงมากในช่วงแรกๆ แต่ไม่นานมันก็จะตกลงมาอย่างหนัก กราฟเหมือนยอดภูเขา"

ส่วนหุ้น "ไอพีโอ" วิธีการที่จะได้เงินตอนเข้าตลาดจะกำหนดค่าพี/อี เรโช สูงๆ บางบริษัทพื้นฐานไม่ดี แต่ขายพี/อี 12-13 เท่า บางตัวขาย 15 เท่า

"ในความเห็นผมที่มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ บริษัทใหม่เขาจะให้พี/อีไม่เกิน 8 เท่า ตลาดจะต้องเป็นผู้กำหนดไม่ใช่ให้เจ้าของบริษัทเป็นผู้กำหนด หรือให้โบรกเกอร์เป็นคนกำหนด ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง ก่อนเอาหุ้นเข้าตลาดต้องประมาณการ Cashflow และคาดการณ์กำไรปีถัดไป พอเข้าตลาดได้เงินแล้วประกาศตัวเลขขาดทุน จริงๆ แล้วเขาต้องมี Profit การันตี 3 ปี โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นคนรับประกัน"

ที่ไม่ถูกต้องอีกข้อทางการต้องห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ ผู้บริหาร ซื้อๆ ขายๆ (เทรดหุ้น)เพราะคุณรู้ข้อมูลภายใน ในต่างประเทศเขาไม่ให้เรื่องนี้ เพราะเป็นการชี้นำราคา

นี้คือเกร็ดความรู้เชิงลึกที่ "จอร์จ ตัน" เซียนหุ้น 1,000 ล้าน ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

ขอขอบคุณEcon Investment Club จัดทำโดย นิสิตคณะเศรษฐาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

3 things that you must know!


1. ราคาหุ้นจะขึ้นลงในลักษณะเป็นคลื่นไม่ใช่เส้นตรง
จากรูปจะเห็นว่าราคานั้นจะเป็นคลื่นที่เคลื่อนไหวเป็น Trend ขาขึ้น(สีเขียว) หรือขาลง (สีแดง) ดังนั้นสิ่งที่เราๆ ทำได้คือตาม Trend เมื่อขาขึ้นก็ซื้อขาลงก็ขายทำกำไร
คนส่วนมากไม่เข้าใจว่าราคานั้นจะเป็นคลื่นเข้าใจว่าเป็นเส้นตรง ถ้าขาขึ้นซื้อหุ้นแล้วต้องได้กำไรไปเรื่อยๆ แต่ในความจริงอาจจะมีบางช่วงบางตอนที่ขาดทุน แต่ไม่ต้องซีเรียสครับถ้าเราตาม Trend ได้ถูก ช่วงที่ขาดทุนก็เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้นไม่ต้องรู้สึกวิตกว่าทำไมหุ้นตัวที่เราซื้อนั้นไม่วิ่งหรือขาดทุนในระยะแรกๆ ครับ ทนถือต่อไปครับ ^ ^

2. เราไม่มีทางซื้อที่ราคาถูกสุดและขายที่ราคาสูงสุดได้
จากรูปจะเห็นจุดที่วงกลมไว้จุดนั้นคือราคาต่ำสุดและราคาสูงสุดของรอบนั้นๆ คนส่วนใหญ่ต้องการที่จะซื้อและขายที่จุดนี้ซึ่งเป็นไปได้น้อยมาก คนที่ทำได้ก็อาจจะมีครับแต่อาศัยดวงนะครับ :P
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่สามารถทำได้ยังไงลองถามคำถามตัวเองสองข้อนี้ก่อนครับ 1) ทำไมเราถึงรู้ว่าจุดนั้นเป็นจุดต่ำสุด? 2) ทำไมเราถึงรู้ว่าจุดนั้นเป็นจุดสูงสุด? คำตอบก็คือ 1) เพราะว่าราคาได้เลยจุดต่ำสุดมาแล้วจนเปลี่ยนเป็นขาขึ้นอีกรอบ 2) เพราะว่าราคาได้เลยจุดสองสุดมาแล้วจนเปลี่ยนเป็นขาลงอีกรอบ
นั่นคือเหตุผลที่เราไม่สามารถซื้อที่จุดต่ำสุดและขายที่จุดสูงสุดได้ครับ สิ่งที่เราทำได้คือซื้อขายในช่วงกรอบสีน้ำเงินในรูปครับ ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจคิดเสียดายตรงจุดสูงสุดว่าเราน่าจะขายจะได้กำไรสูงสุดก็อย่างว่าครับไม่สามารถทำได้ดังนั้นอย่าไปเสียดายเลยครับกำไรน้อยยังไงก็ยังกำไรนี่ครับ ^ ^

3. Let profit run and cut lost to protect capital
ย้ำอีกครั้งนะครับว่า Let profit run and cut lost ไม่ใช่ Let lost run and cut profit นะครับ คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้จริงๆ ครับ เวลาได้กำไรนิดๆ หน่อยๆ แล้วชอบรีบขายกลัวว่าจะขาดทุนแต่พอขาดทุนก็ถือต่อแล้วคิดว่าเดี๋ยวมันก็กลับมาเท่าทุน (ทั้งที่จริงๆ อาจจะเสียหายหนักกว่าเดิมก็ได้ครับ) ฉะนั้นวินัยสำคัญที่สุดครับ การ cut lost ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคนครับ อาจจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ได้ครับอย่างเช่น 10% ถ้าขาดทุนเท่านี้แล้วไม่ว่าจะเป็นยังไงต้องขายก่อนครับเพื่อรักษาเงินทุนไว้ อีกครั้งนะครับอยากได้กำไรในระยะยาวต้องรักษาวินัยครับ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา: www.stock2morrow.com



วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

'ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ' นักถอดงบการเงิน 'ผู้ปราดเปรื่อง'



เซียนหุ้นพอร์ตใหญ่ 'เลข 9 หลัก' ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ ชื่อชั้นระดับ 'ยอดฝีมือ' ในวงการตลาดหุ้น ใครๆ ก็ยกให้เขาเป็น 'หมองบการเงิน'...คนนี้แหละ!! ที่วงการ 'วีไอ' ยกให้เป็น 'นักถอดงบการเงิน' เก่งโครตๆ

ในวงการวีไอร่ำลือว่า ฉัตรฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้นวีไอรายนี้พอร์ตลงทุนใหญ่ ตัวเลขน่าจะไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท คำบอกเล่าของสาวกวีไอบางคนระบุว่า ฉัตรชัยชอบให้ความรู้ผู้อื่น ทำหนังสือสอนวิธีแกะงบการเงินแจกคนใกล้ชิด ใครอยากถอดงบการเงินคล่องๆ ต้องไปหาเขา
ไก่ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าประเทศไทย คอนเฟิร์มว่า ฉัตรชัยเก่งเรื่องเจาะลึกงบการเงิน ที่ผ่านมาเขาเคยตั้งกระทู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคนเข้ามาดูเยอะมาก ทางสมาคมฯ จะเปิดให้เขามาสอนสมาชิกเร็วๆ นี้..ปัจจุบัน ฉัตรชัย เจ้าของนามแฝง CHATCHAI ในเว็บไซต์ "ไทยวีไอ" มีบทบาทเป็น เลขานุการสมาคมฯ นิสัยเป็นคนเที่ยงตรง จะคอยดูแลข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

ชายผิวขาววัย 44 ปีรายนี้ มีนัดหมายกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek เวลา 10 โมงตรง ณ ร้านกาแฟ เซ็ทเทรด ดอท คอม เขาส่งยิ้มทักทายอย่างเป็นมิตร พร้อมนั่งลงตอบคำถาม พี่ฉัตรมีพอร์ตลงทุนใหญ่ 500 ล้านบาท อย่างเขาว่ากันรึเปล่า!!!เจ้าตัวหัวเราะ ก่อนตอบว่า ใครบอกไม่ถึง..มั่วล่ะ!! ผิดคนรึเปล่า! พอร์ตผมก็แค่เกือบแตะ 9 หลักเท่านั้น

ฉัตรชัย ย้อนประวัติชีวิตวัยเด็กก่อนมาเป็น เซียนหุ้นรายใหญ่ให้ฟัง..ตั้งแต่จำความได้ก็วิ่งเล่นอยู่แถวย่านวรจักร ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากินของครอบครัว คุณพ่อท่านเป็นคนจีนโบราณ มักเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ตามโอกาสและสถานการณ์ ท่านเคยทำร้านทอง ร้านตัดผม ปั๊มน้ำมัน ตอนนี้ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นแล้วย้ายออกมาอยู่กับภรรยาและลูกสาว 2 คน (คนโตอายุ 13 ปี คนเล็กอายุ 11 ปี) แถวนั้นน้ำท่วมถึงหน้าแข้ง (หัวเราะ) ต้องพากันอพยพมาอยู่คอนโดมิเนียมแถวพญาไท

"ผมไม่ชอบท่องจำ แต่รักการคำนวณตัวเลขเป็นชีวิตจิตใจ จึงตัดสินใจปูพื้นฐานตัวเองด้วยการเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ผมเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นก็เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่รุ่น 70 มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็น เอ็มดีคนปัจจุบันของ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เขาเรียนอยู่แผนกคอมพิวเตอร์ หลังเรียนจบไม่นานก็ไปศึกษาต่อปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) ภาคค่ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเริ่มอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงิน ตอนนั้นผมเริ่มสนใจการลงทุนแล้ว แต่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ทำไมถึงสนใจตลาดหุ้น

ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีปี 2 ฉัตรชัย เริ่มรู้สึกตัวว่าแท้จริงแล้วไม่ได้อยากเรียนวิศวะ แต่รักที่จะเรียนเกี่ยวกับธรุกิจและบัญชีมากกว่า เพราะช่วงนั้นชอบอ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับธุรกิจ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เคยคิดจะย้ายคณะแต่ด้วยความเสียดายเวลา ทำให้หันมาเลือกเรียนวิชาอุตสาหการ ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับการบริหารโรงงานแทน พอเรียนจบปริญญาตรีตอนปี 2533 ก็ไปทำงานเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ใน บมจ.เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น (MSC) อยู่ตึกไอบีเอ็ม เงินเดือน 7,000-8,000 บาท เขียนใบสมัครงานไว้ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 4 เพราะคุณอารู้จักกับผู้บริหาร MSC เขาบอกว่า บริษัทกำลังรับสมัครฝ่ายวิศวกรรม ท่านก็มาชวนผม (เมื่อก่อนคุณอาทำงานอยู่ใน บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี (TCCC) ซึ่งอยู่ตึกเดียวกับ MSC)

จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ย้อนกลับไปตอนปี 2533 เขาอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สมัยนั้นจะมีคอลัมน์ที่นำหนังสือของ ปีเตอร์ ลินซ์มาแปล (ฉบับแปลและเรียบเรียงโดยสุทธิชัย หยุ่น) ลงอาทิตย์ละตอน ซึ่งเขาติดตามอ่านตลอด รู้สึกว่ามีเหตุมีผล พอมีการรวมเป็นเล่มก็ไปซื้อ เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่า เออ!..เรื่องนี้มันถูกกับเรา

หลังจากศึกษาการลงทุนอยู่ไม่นาน ก็ตัดสินใจนำเงินเก็บประมาณ 20,000 บาท มาเล่นหุ้นในพอร์ตของคนรู้จัก ตอนนั้นยังไม่สามารถเปิดพอร์ตเป็นของตัวเองได้เพราะการเปิดบัญชียุ่งยาก เขาบอกว่า หุ้น ยูนิคอร์ด (UCT) ทำธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องส่งออก เป็นหุ้นตัวแรกที่ตัดสินใจซื้อ ได้มาประมาณ 200 หุ้น ราคาหุ้นละ 118 บาท หุ้น UCT ล้มละลายไปแล้ว หลังเจ้าของบริษัท ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ยิงตัวตาย เมื่อปี 2538 เพราะเจอมรสุมหนี้ 7,000 ล้านบาท

"ถามว่าทำไมตอนนั้นเลือก จิ้มหุ้น UCT เล่าไปแล้วก็ขำตัวเอง บังเอิญว่าเจ้าของเขาเป็นศิษย์เก่าวิศวะ ซึ่งผมไม่ได้รู้จักเขา แต่ตอนนั้นทางคณะพานักศึกษาไปเยี่ยมชมโรงงานของเขา ช่วงนั้น UCT เขาดังเป็นพุลแตก เพราะเป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่เข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเคสที่ดังมาก ทำให้ผมคิดว่าเจ้าของบริษัทนี้ท่าจะเก่ง ดูยิ่งใหญ่ อนาคตสงสัยจะดี (หัวเราะ)"

ฉัตรชัย บอกตรงๆ ตอนโน้นซื้อหุ้นไม่เคยดูงบการเงิน ยิ่ง P/E แทบไม่ได้สนใจ เพราะเมื่อก่อนตลาดหุ้นยังเป็นระบบเคาะกระดาน ระบบอินเตอร์เน็ตยังไม่มีใช้ ทำให้การหาข้อมูลทำได้ยากมาก ถ้านักลงทุนอยากได้ข้อมูลงบการเงินต้องไปเสียเงินขอก็อปข้อมูลใส่แผ่นดิกส์ที่ตลาดหลักทรัพย์ หรือหากอยากฟังราคาหุ้นต้องรอฟังในรายการวิทยุระบบ AM ซึ่งเขาจะรายงานราคาหุ้นทุกครึ่งชั่วโมง หากพลาดต้องรอฟังอีกครึ่งชั่วโมงต่อไป ยิ่งใครอยากได้หุ้นแล้วโทรไปสั่งซื้อกับมาร์เก็ตติ้ง ไม่ได้หมายความว่าคุณได้แล้วนะ ต้องรอตลาดหุ้นปิดแล้วเขาจะโทรมาบอกว่าที่สั่งไปเนี่ยได้รึเปล่า

"เล่นหุ้นสมัยก่อนเข้าถึงข้อมูลยากจริงๆ ขนาดเข้าสู่ยุคโทรศัพท์มือถือ และเพจเจอร์ ก็ใช่ว่าจะง่าย คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,500 บาท เพื่อให้เขารายงานหุ้นผ่านเพจเจอร์ ราคาเครื่องก็ปาเข้าไปเป็นหมื่นบาท ยิ่งใครอยากได้บทวิเคราะห์ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ คุณต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้นถึงจะได้อ่าน"

เขายอมรับอย่าง ไม่อายว่า ผลการลงทุนในช่วง 2-3 เดือนแรกออกแนว เจ๊ง” (หัวเราะ) เพราะเจอเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียเล่นงาน ดัชนีและราคาหุ้นล่วงกว่า 30% ยิ่งราคาหุ้น UCT ยิ่งแย่ หล่นตุ๊บจาก 118 บาท เหลือเพียง 10 กว่าบาท ภายในระยะเวลาไม่นานมาก แต่เขาก็ไม่รู้สึก เข็ดเพราะยังลงทุนน้อย ตรงข้ามกลับมองว่าหุ้นมันตกทั้งตลาด ทุกคนก็โดนเหมือนกันหมด หุ้นตกเดี๋ยวมันก็ขึ้น

เมื่อตลาดหุ้นย่ำแย่ ก็เลยหันไปซื้อๆขายๆ หุ้นแบงก์ ไฟแนนซ์ เรียกว่าเล่นตามกระแสข่าวรายวัน ผลออกมา ก็มีทั้ง ขาดทุน กำไร เสมอตัวเล่นหุ้นแบบตามสตอรี่ได้ 3-4 ปี ก็เริ่มรู้สึกตัวว่า ไม่เห็นได้อะไรจากการเล่นหุ้นลักษณะนี้

"ผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานใน MSC เพื่อมาเรียนต่อปริญญาโทตอนปี 2537 ด้วยความหวังว่า อยากรู้เรื่องเกี่ยวการเงิน บัญชี แบบให้ถูกสเตป เพราะซื้อหนังสือมาอ่านเองมันไม่เข้าใจ ปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ มันขาดความมั่นใจ เมื่อเรียนปริญญาโทปี 2 ก็มีโอกาสได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ทำให้เข้าใจถึงปัญหาค่าเงินบาท ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่า ประเทศกำลังจะเจอปัญหาหนัก จึงตัดสินใจล้างพอร์ตได้เงินกลับมาหลักแสนบาท"

หลายคนคงคิดว่า เงินก้อนนั้นเป็น กำไรที่ได้จากการลงทุนล้วนๆ แต่เปล่าครับ!..เขาบอก มันเป็นเงินที่เติมไปเรื่อยๆ โชคดีมากที่ขายหุ้นออกหมด แม้จะไม่ได้กำไรมากมาย แต่ก็ได้ประสบการณ์กลับมาเพียบ!! ในระหว่างที่เรียนปริญญาโท ก็มีโอกาสใช้ช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 1 ปีกว่า ไปทำงานในเครือของผู้จัดการเกี่ยวกับการขายระบบข้อมูล พอเขาเปลี่ยนผู้บริหารก็ลาออกไปทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ เพราะหัวหน้าเก่าแนะนำ ทำงานแบงก์ได้ 4-5 ปี ก็ลาออกตอนปี 2544

เขาเล่าต่อว่า ก่อนจะลาออกจากแบงก์ตอนปี 2542 ก็หวนกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง ตอนนั้นดัชนียืนแถวๆ 200 จุด โดยหอบเงินหลักแสนมาเปิดพอร์ตลงทุนกับ บงล.พูนพิพัฒน์ เพราะรู้มาว่า ภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยกำลังจะผ่าน จุดเลวร้ายตอนนั้นเลือกซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ บล.เอกธำรง (S-ONE-W3) ประมาณ 1 ล้านหน่วย ราคา 0.60 บาท เพราะเห็นว่าเขาไม่มีหนี้ ความเสียหายจากปี 2540 เคลียร์ไปหมดแล้ว เท่าที่ดูทุนบริษัทแล้วยังไงเขาก็อยู่ได้ สาเหตุที่เลือกซื้อวอร์แรนท์ เพราะราคาขึ้นเร็วมากเมื่อเทียบกับหุ้นแม่ และราคาตัวแม่แพงกว่าวอร์แรนท์ 1-2 บาท โชคดีที่ไม่ได้แปลงวอร์แรนท์ เพราะผ่านมา 3 เดือน ขายไป 3.60 บาท ได้กำไรมา 5 เท่า

เมื่อรู้สึกว่า เรามาถูกทาง ก็เริ่มไปไล่ซื้อหุ้นพื้นฐาน แต่เป็นบริษัทไม่ค่อยดังเท่าไร เช่น หุ้น โอเชียนกลาส (OGC) หุ้น ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) หุ้น แมนดารินโฮเต็ล (MANRIN) และหุ้น ไทยแลนด์ไอออนเวิคส์ (TIW) เป็นต้น ช่วงนั้นได้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีมากเฉลี่ย 50% ผ่านมา 1-2 ปี พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจาก หลักแสนบาทเป็น หลักล้านบาท

"กลับมาครั้งนั้นผมตั้งใจจะลงทุนเพียง หุ้นพื้นฐานอย่างเดียว ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าลงทุนแบบนี้ เขาเรียกว่าแนว VI รู้เพียงว่าต้องลงทุนหุ้นพื้นฐานเหมือน ปีเตอร์ ลินซ์เท่านั้น ปีเตอร์ ลินซ์เขาเป็นผู้บริหารกองทุนแม็คเจ็ลลันที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงถึง 29% แบบทบต้นในระยะเวลา 13 ปี ช่วงนั้นผมพยายามบอกคนรู้จักให้ลงทุนหุ้นพื้นฐาน แต่เขาไม่เชื่อ ทั้งๆ ที่เห็นว่าเราได้กำไร เพราะช่วงนั้นหลายคนยังมีความเชื่อว่าเล่นหุ้นต้องเล่นตัวที่มีเจ้ามือเท่านั้น ผมก็เลยต้องปล่อยเขาไป"

เซียนหุ้นพอร์ต 9 หลัก เล่าว่า เคยขาดทุนหุ้นตัวหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยชื่อ หุ้นตัวนั้นพื้นฐานดี งบการเงินดี แต่เสียตรงที่ผู้บริหารไม่ซื่อตรง ตอนเข้าไปฟังข้อมูลบริษัทก็เริ่มรู้แล้วล่ะ! เพราะถามอะไรไปเข้าตอบไม่เต็มปาก สุดท้ายจึงต้องยอมขายขาดทุน 10-20% แรกๆ ที่หันมาลงทุนแนว VI พอร์ตยังมีแต่หุ้นไซด์เล็กที่ไม่ค่อยขยับเขยื้อนเท่าไร ตรงกันข้ามกับหุ้นกลุ่มแบงก์ที่วิ่งขึ้นทุกวัน ตัวเองยังเคยแอบเผลอใจอยากขายหุ้นตัวเองทิ้งแล้วไปเล่นหุ้นแบงก์ แต่วันหนึ่งก็คิดได้ว่าไม่เอาดีกว่า โชคดีช่วงนั้นทำงานแบงก์ทำให้รู้ว่า แท้จริงแล้วแบงก์ไม่ได้ดีมากขนาดนั้น ซึ่งการขึ้นของตลาดหุ้นในครั้งนั้นมันไม่ปกติ

"นักลงทุนสมัยใหม่อยาก รวยเร็วทำให้คนบางคนเข้าไปเสี่ยงเล่นหุ้นเก็งกำไร เชื่อผมสิ! มันไม่ได้อะไรนอกจากความสนุก ถ้าอยากรวยในตลาดหุ้นพวกคุณควร อดทนรออย่าเร่งรีบ..เดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงเป้าหมาย" ฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย ก่อนเริ่มต้นเล่ากลยุทธ์การลงทุนที่ BizWeek จะนำเสนอต่อในสัปดาห์หน้า

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แฉกลโกงปั่นหุ้น


แนวการลงทุนแบบ C-A-N-S-L-I-M” ของ “วิลเลียม โอนิล"


วันนี้ขอเสนอแนวความคิดของนักลงทุนคนหนึ่ง ที่หลายๆคนอาจจะไม่รู้จัก

ก็คือ วิลเลี่ยม ครับ


วิลเลี่ยม เจ โอนีล

ประวัติส่วนตัว
บิล โอนีล เรียนจบด้านการบริหารจาก Southern Methodist University ในปี 1955 และ ในปี 1958 หลังจากที่เขาได้ผ่านการเกณทหารแล้ว เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็น นักเล่นหุ้น ให้กับบริษัท Hayden, Stone & Company และได้พัฒนารูปแบบการเล่นหุ้นที่มีชื่อว่า CANSLIM และด้วยรูปแบบการเล่นนี้ ทำให้เขากลายเป็นนักเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จที่สุดในบริษัทในเวลานั้น
จากความสำเร็จด้านการงานและการเงินทำให้เขาริเริ่มก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า William O'Neil & Co., Inc, ในปี 1963 และตอนเขาอายุได้ 30 ปี เขาก็กลายเป็นบุคคลที่มีอายุน้อยที่สุดที่สามารถซื้อที่นั่งใน New York Stock Exchange ได้

ในปี 1983 เขาเริ่มทำหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการเงินและใช้ชื่อว่า Investor's Daily ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น Investor's Business Daily ในปี 1991 และในปี 2007 ที่ผ่านมา เขารับทำหน้าที่ในตำแหน่ง CEO ให้กับ William O'Neil & Co. และยังคงทำหน้าที่เป็นบอร์ดบริหารและผู้ผลิต Investor's Business Daily รวมไปถึงเป็นคุณครูและเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุน

รูปแบบการลงทุน
โอนีล ได้ทำการผสมผสานรูปแบบการลงทุนของตัวเอง โดยใช้ quantitative และ qualitative strategies ผสมกันและนำมาปรับใช้ หรือจะพูดง่ายๆก็คือ รูปแบบการลงทุนของเขาคือการค้นหาหุ้นที่มีความน่าจะเป็นที่จะขึ้นทันที่ ที่มีการซื้อขาย

โอนิล การลงทุนแบบนี้ ทำให้ภายในหนึ่งปีผ่านไปเขาสามารถทำเงินจาก 5,000 เหรียญ เป็น 200,000 เหรียญ
บิล โอนีล มักจะพูดเสมอว่า จงซื้อหุ้นที่ดี และ ขายหุ้นที่ไม่ดี และ รูปแบบการเล่นของเขาก็คือการใช้หลัก CANSLIM ที่เขาคิดขึ้นมาเอง

C – Current quarterly earnings per share
ผลกำไรไตรมาสก่อน, รายได้ของหุ้นตัวนั้นๆในไตรมาสต่างๆเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25%

A – Annual earnings
กำไรต่อปีเพิ่มขึ้น, รายได้ต่อปีจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25% ในช่วง 5 ปีหลัง

N – New products, new management, and new highs.
หุ้นตัวใหม่ที่มีรูปแบบและการบริหารที่แตกต่าง

S – Supply and demand
อุปสงค์ และ อุปทาน, ยิ่งที่ปริมาณหุ้นน้อย ยิ่งทำให้ราคาสูง ดังนั้นลงมองหาหุ้นที่มี 10 ถึง 12 ล้านหุ้น

L – Leaders and laggards.
ผู้นำ และ ผู้ตาม, เลือกลงทุนในหุ้นที่มีความเข้มแข็งในอันดับต้นของกลุ่มนั้นๆ สัก 2-3 บริษัท หุ้นพวกนี้มักจะปรับตัวดีกว่าหุ้นอื่นๆในหมวดเดียวกันในอัตรา 80-90% ใน 12 เดือน อยู่ให้ห่างหุ้นที่ปรับตัวแย่ลงในระยะ 7 เดือน

I – Institutional ownership.
ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนสถาบัน, บริษัทที่ได้รับการสนับสนุน เราสามารถนำมาเป็นตัวเลือกได้

M – Market direction.
ทิศทางการตลาด, ศึกษาตลาดเพื่ิอหาสัญญาณการเพิ่ม และปรับตัวลงของตลาด

หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์

"How To Make Money In Stocks" by William J. O'Neil(1988).
"24 Essential Lessons For Investment Success" by William J. O'Neil (1999).
"The Successful Investor" by William J. O'Neil(2003).

Quotes

ถ้าตลาดเดินไปคนละทางกับที่คนส่วนใหญ่คิด ผมมั่นใจว่า 95% ของคนเหล่านั้นพูดจากความรู้สึก และ ความรู้สึกมักจะไม่ค่อยมีความหมาย ความจริงกับรูปแบบของตลาดนั้นมีความน่าเชื่อถือกว่ามาก
การที่จะประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นนั้น เวลาคุณเล่นเสีย ให้เล่นเสียในจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
อะไรที่ดูเหมือนจะดีแต่เสี่ยงมักจะดีกว่าที่คุณคิดไว้ และ อะไรที่ดูไม่ดีแต่ง่ายก็มักจะดูแย่กว่าที่คิดไว้เฉ่นกัน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา:
http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=36336&s=3dee92cb96b6a0bf6886145e265c542b