หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อยู่กับหุ้น 100% : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตั้งแต่ปี 2539 ผมได้ลงทุนเงินทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในหุ้น ในช่วงแรกๆนั้น แน่นอน ผมต้องเก็บเงินสดไว้จำนวนหนึ่งเป็นสภาพคล่องสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินจำนวนนั้นถ้าคิดคำนวณก็อาจจะประมาณเท่ากับ 10% ของเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เงินอีก 90% ผมลงในหุ้นทั้งหมด

เหตุผลที่ผมลงทุนในหุ้นนั้น เป็นเพราะผมเห็นว่า หุ้นที่ผมลงทุนนั้นเป็นบริษัทที่มั่นคง มีกำไรที่สม่ำเสมอ มีปันผลที่ค่อนข้างแน่นอนประมาณไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผมลงเพราะผมเห็นว่า หุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ผมจะทำได้

ผมไม่คิดว่าผมรับความเสี่ยงมากเกินไป เพราะผมถือหุ้นต่างๆเกือบสิบบริษัท ถ้าบริษัทหนึ่งมีปัญหา บริษัทอื่นก็ยังดีอยู่และทำผลตอบแทนชดเชยได้

ผ่านมาประมาณ 14 ปี ผมก็ยังคงถือเงินสดเป็นสภาพคล่องประมาณเท่าเดิม แต่เนื่องจากเงินลงทุนในหุ้นของผมเติบโตขึ้นมาก เงินสภาพคล่องที่เคยเป็น 10% ของพอร์ต ตอนนี้จึงเป็นเพียง 1% ของเงินทั้งหมด การถือหุ้น ?ร้อยเปอร์เซ็นต์? ของผม ?ตลอดเวลา? เป็นเวลา 14 ปีนั้น ได้ผ่านเหตุการณ์ ?เลวร้าย? ต่างๆ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร การถล่มทลายของตึกเวิร์ลเทรดจากการก่อการร้าย การประกาศควบคุมเงินทุนไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย และเหตุการณ์ร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งนั่นก็เป็นการพิสูจน์ว่า การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น ไม่ได้อิงหรือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและก็จะจบลงไปในระยะเวลาไม่นาน

การถือหุ้น 100% นั้น นักวิชาการต่างก็พูดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีอายุมาก ที่จะไม่สามารถรับได้หากเกิดการขาดทุนและตนเองไม่สามารถทำงานหาเงินมาชดเชยได้ การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น อาจจะเหมาะก็เฉพาะคนที่ยังเป็นหนุ่มสาวที่รับความเสี่ยงได้มากเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีเหตุผลที่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์แม้ว่าอายุกำลังใกล้เกษียณ เหตุผลของการถือหุ้น 100% นั้นมีมากมาย

ข้อแรก หุ้นนั้น ในระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดีและน่าจะดีที่สุดในบรรดาการลงทุนในตราสารการเงิน จากสถิติทั้งในและต่างประเทศพบว่า หุ้นให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 8-10% ซึ่งสูงกว่าเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 3-5% เท่านั้น และคำว่าระยะยาวนั้น น่าจะมีความหมายว่าประมาณ 10-20 ปี ดังนั้น สำหรับผมซึ่งอายุยังไม่ถึง 60 ปี และคิดว่าตนเองน่าจะอยู่ได้ถึง 80 ปี ซึ่งจะทำให้ผมมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ผมจึงเห็นว่าการลงทุนในหุ้นทั้งหมดน่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุด

ข้อสอง ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป จนผมมีอายุ 70 ปี ถ้าผมยังมีความสามารถในการวิเคราะห์พิจารณาอยู่ ผมเองก็จะยังคงลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี เหตุผลก็คือ เงินของผมที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น มันมีอยู่มากเกินพอที่ผมไม่สามารถใช้ได้หมดอยู่แล้ว เงินส่วนใหญ่นั้นคงจะส่งผ่านต่อไปที่ลูก ดังนั้น สิ่งที่ต้องดูจริงๆก็คือ อายุของลูกไม่ใช่อายุของผม และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ควรลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ ผมไม่มีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่พอใช้จ่ายในยามที่มีอายุมากขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเป็นเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนน้อยนิดแต่อย่างใด

ข้อสาม ถ้าไม่มองในด้านของอายุหรือระยะเวลาในการลงทุน แต่ดูที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันก็จะพบว่า มันต่ำมากจนไม่คุ้มกับอัตราเงินเฟ้อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% ต่อปีนั้น ยิ่งเราเก็บไว้นานเราก็ยิ่ง ?ขาดทุน? ตรงกันข้าม ถ้าเราลงทุนในหุ้นด้วยการเลือกหาหุ้นที่ดีในราคาที่ต่ำหรือราคายุติธรรม เราก็อาจจะสามารถทำเงินเพิ่มเป็นเท่าตัวได้ในระยะเวลาอาจจะไม่เกิน 5-6 ปี หรือถ้าพลาด ราคาหุ้นไม่เพิ่มเลยในช่วงเวลาหลายปี แต่ปันผลที่ได้ในแต่ละปีที่ประมาณ 3-4% ก็ยังคุ้มค่ากว่าการฝากเงินอยู่ดี ดังนั้น การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่มีข้อดีและควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่เป็น Value Investor ผู้มุ่งมั่น

เหตุผลข้อสุดท้ายของการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่ว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้เรา ?รวย? ได้ โดยที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่เหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีเวลาลงทุนที่ยาวนาน เช่น คนหนุ่มสาวทั้งหลาย ว่าที่จริง คนที่อายุยังไม่ครบ 30 ปี และมีเงินเดือนหรือรายได้ในระดับคนชั้นกลางที่ไม่มีภาระมากเกินไป และมีความมุ่งมั่นในการลงทุนเต็มเปี่ยมนั้น น่าจะสามารถรวยในระดับร้อยล้านบาทก่อนที่จะตายได้ไม่ยาก หลักการใหญ่ก็คือ เขาจะต้องลงทุนถือหุ้นชั้นนำไม่น้อยกว่า 5-6 ตัว และไม่ควรเกิน 10 ตัว ด้วยเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น หลายคนอาจจะไม่แน่ใจ เพราะดูเหมือนมันจะ ?ง่ายเกินไป? ความเสี่ยงดูเหมือนจะ ?น้อยเกินไป? ถ้ามันดีอย่างนั้นทำไมคนจึงไม่ทำกันหมด เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถตอบได้ในเวลาอันน้อยนิด ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า พอร์ตหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นก็เปิดเผย เขาถือหุ้นเหล่านั้นในระยะยาวมาก พอร์ตหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อย แล้วเขาก็รวย คำถามก็คือ ทำไมคนจึงไม่ถือหุ้นเหล่านั้นตามบัฟเฟตต์?

เรื่องของการรวยจากการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ว่าที่จริงผมได้พบ Value Investor ผู้มุ่งมั่นหลายคนทีเดียวที่ทำได้สำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐีด้วยเวลาที่สั้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ คนเหล่านั้นค้นพบ ?ขุมทอง? ในตลาดหุ้นและขุดมันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายคนยังไม่เชื่อว่ามีขุมทองจริง ประเด็นก็คือ เขายังไม่ได้ลองเข้ามาสำรวจ ยังไม่ได้ลงมือจับจอบเสียมและ ?ขุด? พื้นดินจริงๆ ความหมายของผมก็คือ ถ้าคุณหวังจะรวยจากตลาดหุ้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ลงทุนซื้อหุ้นในวิธีที่ถูกต้อง ไม่มีทางอื่น เริ่มเดี๋ยวนี้

*********************

อยู่กับหุ้น 100%
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มา http://www.sarut-homesite.net/2010/0...%8C-%E0%B9%80/

ขอบคุณแหล่งข้อมูลครับ

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุมมองของ ‘พิชัย จาวลา’

ตลาดหุ้นภายใต้กลไกตลาดเสรี แท้จริงไม่เสรีอย่างในทฤษฎี ถ้าเราอยู่ฝั่งคนส่วนใหญ่ผลลัพธ์มักลงเอยอย่าง ผู้แพ้
พิชัย จาวลา นักคิดผู้กล้าเสนอความจริงที่แตกต่าง
พิชัย จาวลา”… ชื่อนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงตลาดหุ้น เขาไม่ใช่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหรือมีพอร์ตลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท แต่พิชัยเป็น นักคิดที่กล้านำเสนอความจริงที่แตกต่าง แตกสัจธรรมเพื่อค้นหาเหตุแห่งสัจธรรม เหรียญยังมีสองด้านฉันใด..ความจริงที่เรามองเห็นอาจไม่ใช่ความเที่ยงแท้เสมอไป
เศรษฐศาสตร์แห่งความจริงหนังสือที่ไม่ได้ทำยอดขายติดอันดับ เบสเซลเลอร์บนแผงหนังสือ และค่อนข้างอ่านยากสำหรับหลายคน แต่เป็นผลงานที่เปิดให้เห็นตัวตนของ พิชัย จาวลา กรรมการบริหาร กลุ่มจาวลากรุ๊ป นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 42 ปี ที่มีฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
พิชัยยังมีบทบาทเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีพอร์ตลงทุนในระดับ 10-20 ล้านบาท เขาใช้เวลานอกกว่า 20 ปี เฝ้าติดตามความเป็นไปของตลาดหุ้น ค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในด้านตรงข้ามของเหรียญ ความจริงที่คนส่วนใหญ่ก็รู้แต่มีเพียงคนส่วนน้อยที่ยอมรับและปฏิบัติ !!!
จากการคาดการณ์ของคุณพิชัยต่อตลาดหุ้นที่ผ่านๆมา พอจะสรุปได้ว่า การคาดการณ์ของคุณพิชัยในระดับวงจรหรือในระดับกรอบใหญ่ มีความถูกต้องแม่นยำค่อนข้างมาก แต่ในระดับรายละเอียด บางครั้งจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดการณ์ มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณีไปคำวิจารณ์ของคนที่เฝ้าติดตามผลงานของพิชัย โพสต์ไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง
เนื้อหาในหนังสือเศรษฐศาสตร์แห่งความจริงฉบับตีพิมพ์ ครั้งที่สามเดือนสิงหาคมปี 2550 พิชัยทำนายว่า SET Index ในปีถัดไป (2551) จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 900 จุด ก่อนจะปรับตัวลงแตะระดับบวกลบ 450 จุด เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ทำไม! ตลาดหุ้นไทยถึงเป็น หลุมฝังศพรายย่อยรุ่นแล้วรุ่นเล่า บทสรุปหนึ่งก็คือ ตลาดหุ้นไม่ ใช่ Fair Game ไม่ใช่เกมที่แฟร์สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ใครก็มาตักตวงได้ง่าย
หมูสนามส่วนใหญ่แท้จริงก็เป็น เซียนในอาชีพของตัวเองกันมาทั้งนั้น
ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่และไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น แค่อยากจะถ่ายทอดแนวคิดส่วนตัวให้ฟังพิชัยบอกผ่านกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อไม่ว่ากัน
พิชัยเล่าว่า อาชีพหลักของตนเองทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มูลค่าโครงการตั้งแต่ 30 ล้านบาทถึง 260 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2532 แต่ ผล คือไม่ประสบความสำเร็จเพราะไปเล่นหุ้นตามข่าวเลยต้องย้อนกลับมาหา เหตุว่าทำไมถึงขาดทุน
ผมสังเกตว่าทำไมคนเก่งๆ การศึกษาดีหลายคน ถึงไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ทำไมนักลงทุน 100 คนจะได้กำไรจากหุ้นแค่ไม่กี่คน ที่สุดก็ได้ข้อสังเกตว่า ผู้ชนะในตลาดหุ้นจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเหมือนกับทฤษฎี 80:20 ที่บอกว่าคนส่วนน้อยเพียง 20% จะเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ 80% เสมอ
การนั่งถอดความคิดทีละเปลาะเป็นที่มาของ ทฤษฎีผลประโยชน์ที่พิชัยคิดขึ้น หลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจาก ข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด สองชั้นคือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง ตรงข้าม
หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ มองตลาดหุ้น ขึ้น/ลง ตาม เหตุผลแท้ที่จริงแล้ว เหตุผลเป็นเพียง ข้ออ้างถ้าสังเกตให้ดี เหตุผลต่างๆของนักวิเคราะห์จะตามมาหลังจากหุ้นขึ้นหรือลงไปแล้วระยะหนึ่ง ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน พิชัยยกตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น แบล็กมันเดย์ปี 2530 หรือ แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิสปี 2551 นักลงทุนต่างแห่กันเทขายหุ้นเพราะกังวลกับ ข่าวร้ายแต่ไม่เคยมีคนมองอีกด้านว่ามีคนอีกกลุ่มเขากำลังทำในสิ่งตรงข้ามกันคือ ซื้อหุ้นที่คนส่วนใหญ่ยอมขายขาดทุน (หนีตาย)
ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ ในที่สุดจะได้กำไร และคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน
นักคิดแห่งล้านนา ยกตัวอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จอร์จ โซรอส เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีการ เทขายเงินบาทอย่างหนัก แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายเข้าไปซื้อเงินบาทไว้ก่อนแล้ว หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ (ในกลุ่ม ปตท.) เมื่อปลายปี 2551 ขาดทุน Stock Loss หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้หรอกหรือ ถึงขาดทุน
นี่ไม่ใช่ทฤษฎีผู้มีอำนาจคุมตลาด (Big Brother) แต่เป็น ความจริงอยู่ในมุมเล็กๆของกลไกตลาด ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ถ้าคิดจะทำกำไรในตลาดหุ้น คุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่
พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส
บทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัว และจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม คำพูดนี้คือ สัจธรรมในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจงเป็น คนส่วนน้อยเพื่อจะเป็น ผู้ชนะในตอนจบ
ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุม..พิชัย จาวลา
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552