เล่นหุ้นตามกระแส :ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อประมาณ 30
ปีมาแล้วในช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกทางด้านการเงินที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น ทฤษฎีที่มาแรงที่สุดในขณะนั้นก็คือ
Efficient Market Hypothesis หรือทฤษฎี “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งบอกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดทุกตัวนั้นเป็นราคาที่เหมาะสมอยู่แล้ว
ไม่มีตัวไหนถูกหรือแพง
หุ้นตัวไหนจะขึ้นหรือลงในวันพรุ่งนี้หรือเดือนหน้าเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
ในระยะยาวแล้ว
หุ้นโดยเฉลี่ยก็จะโตไปตามตลาดซึ่งก็อาจจะให้ผลตอบแทนรวมประมาณปีละซัก 10% โดยเฉลี่ย ดังนั้น
การใช้ข้อมูลอะไรมาวิเคราะห์พิจารณาเลือกซื้อหุ้นจึงไม่มีประโยชน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูข้อมูลราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นอย่างที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้
เช่นเรื่องของแนวรับ แนวต้าน ข้อมูลกราฟราคาหุ้นย้อนหลัง 90
วัน 270 วัน หรือเส้นกราฟที่เรียกว่า Head and
Shoulder ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่าเป็นรูปแบบที่ราคาหุ้นจะวิ่งไปเป็น 3 ช่วงที่เหมือนกับหัวไหล่ข้างซ้าย ศีรษะ และหัวไหล่ข้างขวา พูดง่าย ๆ
นักวิเคราะห์ทางเทคนิคเชื่อว่าราคาหุ้นในอดีตนั้น
สามารถบอกถึงทิศทางราคาหุ้นในอนาคตได้
นักวิชาการที่เชื่อในทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพในขณะนั้น
ได้ทดลองใช้ข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลังพิสูจน์และก็พบว่าราคาหุ้นนั้น
เคลื่อนไหวไปอย่าง “ไร้ทิศทาง”
ราคาของหุ้นในวันนี้ไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์กับราคาหุ้นในวันก่อน
เส้นกราฟราคาหุ้นก็ไม่มีรูปแบบหรือแบบแผนที่แน่นอน แนวรับแนวต้านต่าง ๆ
นั้นไม่มีจริง ยิ่งรูปแบบที่เป็น “ไหล่ ศีรษะ ไหล่” นั้น เป็นเส้นที่เกิดจาก “จินตนาการ” เหมือนกับการดูก้อนเมฆ
หรือถ้าเป็นคนไทยก็อาจจะเป็นเหมือนการหาตัวเลขจากขี้เถ้าของธูปที่ขดตัวไปมา
ว่าที่จริง
มีเรื่องเล่าว่าศาสตราจารย์คนหนึ่งลงทุนใช้คอมพิวเตอร์วาดกราฟราคาหุ้นแบบเดาสุ่มออกมา
เสร็จแล้วก็หลอกให้นักศึกษาในชั้นเรียนทางด้านเทคนิควิเคราะห์ว่า “ราคาหุ้นจะไปทางไหน” ซึ่งนักศึกษาต่างก็ใช้เทคนิคต่าง
ๆ วิเคราะห์เป็นตุเป็นตะว่าหุ้นตัวนี้กำลัง “ฟอร์มตัว”
อยู่ในช่วงไหนและจะไปอย่างไรทั้ง ๆ
ที่เส้นกราฟนั้นเกิดขึ้นแบบเดาสุ่มจากคอมพิวเตอร์ และนั่นก็เป็นการ “ปิดฉาก” ของการวิเคราะห์แบบเทคนิคที่เคยเฟื่องฟูก่อนหน้านั้น
แต่เรื่องของการเล่นหุ้นนั้น
ก็คงจะคล้าย ๆ กับทฤษฎีทางสังคมอื่น ๆ ที่มี “วัฏจักร” และมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย
ๆ เราเคยเห็นหุ้นตัวใหญ่มาแรง แล้วบางช่วงหุ้นตัวเล็กก็ให้ผลตอบแทนสูงลิ่ว
บางช่วงหุ้นโตเร็วมาแรงแต่บางช่วงหุ้น Value ก็มาแรงกว่า การ “พลิกผัน” หรือเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ
โดยเฉพาะในตลาดหุ้นนั้นกลยุทธ์ที่ได้ผลดีในช่วงเวลาหนึ่งนั้น
เมื่อคนรู้มากเข้ากลยุทธ์นั้นก็จะได้ผลน้อยลงและอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป คล้าย ๆ
กับว่า “ความสำเร็จมักจะทำลายตัวเอง” และนี่ก็นำมาสู่การกลับมาของกลยุทธ์ทางเทคนิคที่เริ่มมีการค้นพบว่า
บางทีราคาหุ้นในอดีตก็อาจจะพอบอกถึงราคาที่หุ้นจะไปในอนาคตได้
กลยุทธ์ที่ว่านี้ก็คือ การเล่นหุ้นโดยดูจาก Momentum หรือที่ผมจะใช้คำว่า
“เล่นหุ้นตามกระแส”
ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมาในตลาดสหรัฐและประเทศอื่น
ๆ มีการค้นพบใหม่ว่า หุ้นที่มีราคาวิ่งขึ้นแรง ๆ
ในช่วงประมาณหนึ่งปีหรือหกเดือนนั้น มักจะมี Momentum หรือมี
“แรงเฉื่อย” ที่มันจะวิ่งต่อไปอีกอย่างน้อยก็
3 ถึง 6 เดือน หรืออาจจะถึงหนึ่งปี
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเล่นหุ้นเก็งกำไรอย่างสั้น ๆ
เราก็สามารถลงทุนโดยทำเป็นพอร์ตหุ้นที่ซื้อหุ้นที่มีราคาวิ่งแรงที่สุดในช่วงเวลาที่กล่าว
เสร็จแล้วก็ขายหลังจากที่ถือไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง
ผลการศึกษาที่ให้ซื้อหุ้นที่ขึ้นแรงที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาแล้วถือไว้เป็นเวลา 3 เดือนให้ผลตอบแทนมากกว่าปกติถึง 10%
ต่อปีเหนือกว่าตลาดซึ่งถือว่าสูงมาก เช่นเดียวกัน เราอาจจะเลือกหุ้นที่วิ่งแรงที่สุดในรอบ
6 เดือนที่ผ่านมา แล้วก็ถือไว้ต่ออีก 6
เดือน นี่ก็ให้ผลตอบแทนที่งดงามเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าถือหุ้นต่อไปอีก 3-5 ปี ผลตอบแทนกลับจะถดถอยลง ดังนั้น
กลยุทธ์ในการเล่นหุ้นตามกระแสจึงไม่เหมาะกับนักลงทุนระยะยาว ว่าที่จริง มีการศึกษาว่าถ้าเราซื้อหุ้นที่วิ่งขึ้นมาแรงติดต่อกัน
3 ปี แล้วถือยาวต่อไปอีก 3 ปี
ผลตอบแทนที่ได้กลับเป็นลบ
และทั้งหมดนี้ก็เป็นการขัดแย้งกับทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพที่บอกว่าราคาหุ้นในอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้
คำอธิบายว่าทำไมหุ้นที่ขึ้นมาแรงแล้วจึงมีโอกาสวิ่งต่อไปได้มากกว่าที่จะนิ่งหรือลง
คำตอบก็ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก อาจจะเป็นไปได้ว่าหุ้นที่ขึ้นแรงนั้น
เป็นหุ้นที่ไม่ใคร่มีคนสนใจวิเคราะห์ติดตามหรือมีสภาพคล่องต่ำ
เวลาที่หุ้นขึ้นไปแรง ๆ
คนที่ถือหุ้นไว้โดยเฉพาะที่เป็นรายย่อยอาจจะรีบขายออกไปก่อนทำให้ราคาไม่ขึ้นไปแบบม้วนเดียวจบ
แต่เมื่อราคาขึ้นไปคนอาจจะสนใจมากขึ้นและเข้ามาวิเคราะห์และอาจจะพบว่าพื้นฐานกิจการกำลังดีขึ้นมากและดังนั้นจึงเข้ามาซื้อมากขึ้นและทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปอีก
กระบวนการนี้อาจจะใช้เวลา อาจจะ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ดังนั้น
ในช่วงเวลาดังกล่าวหุ้นจึงวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่หลังจากนั้น
คนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่อาจจะรู้ข้อมูลหมดแล้ว
บางคนอาจจะเริ่มเห็นว่าราคาที่ขึ้นไปนั้นสูงเกินพื้นฐานแล้วเนื่องจากหุ้นตัวนั้นมีการ
“เก็งกำไร” กันอย่างหนัก
ดังนั้นเขาจึงเริ่มขาย นักลงทุนคนต่อมาก็อาจจะเห็นเหมือนกันก็เริ่มจะขายในขณะที่คนที่จะซื้อเริ่มน้อยลงไปเรื่อย
ๆ และนี่ทำให้การถือหุ้นที่ขึ้นมาแรงนานเกินไปโดยเฉพาะคนที่เข้ามาทีหลังขาดทุน
ส่วนคนที่ออกไปก่อนในเวลาที่เหมาะสมทำกำไรได้งดงาม—ในหุ้นที่ไม่ใคร่มีคนสนใจติดตาม
ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น
ผมไม่แน่ใจว่ากลยุทธ์เล่นหุ้นตามกระแสหรือตามโมเมนตัมใช้ได้ดีแค่ไหนแม้ว่าโดยส่วนตัวจากการสังเกตในช่วงเร็ว
ๆ นี้ ผมรู้สึกว่าหุ้นจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นตัวเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำมี “กระแส” ที่แรงมาก
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าที่เป็นอย่างนั้นทั้งหมดเป็นเรื่องของกลไกตลาดตามปกติหรือจะมีการ
“ปั่น” กระแส ผสมโรงด้วยหรือไม่ ผมเพียงแต่รู้ว่าคนที่ “จับกระแส” ได้ถูกต้อง
นั่นก็คือ เข้าและออกได้ถูกเวลา น่าจะสามารถทำกำไร “มโหฬาร”
ในขณะที่คนที่เข้าออกผิดเวลานั้นกลับขาดทุนอย่างหนัก
นอกจากนั้น
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าหลักเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดหุ้นต่างประเทศจำนวนมากที่ให้ใช้หุ้นที่วิ่งแรงมาแล้วหนึ่งปีหรือหกเดือนและขายในช่วง
3 เดือนหรือ 6 เดือนตามลำดับนั้น
ใช้ได้กับตลาดหุ้นไทยไหม ดังนั้น คนที่สนใจจะเล่นหุ้นตามกระแสก็ต้องทดลองและ “เสี่ยง” กันเอง
อาจจะมีคำถามว่าถ้าจะเล่นหุ้นตามกระแสแต่อยากจะลดความเสี่ยงโดยการเล่นเฉพาะหุ้นตัวใหญ่เช่นหุ้นใน
SET 50 จะได้หรือไม่? คำตอบของผมก็คือ
ได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม การศึกษาในตลาดหุ้นต่างประเทศก็บอกว่า ผลตอบแทนก็จะน้อยลง
หรือพูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นที่มีนักวิเคราะห์ติดตามมาก
ซึ่งมักเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง
ราคาก็อาจจะวิ่งต่อไปไม่มากนักแม้ว่ายังจะบวกอยู่
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะแนะนำหรือเชียร์ให้เล่นหุ้นตามกระแส
เพราะโดยหลักการแล้ว
คงไม่มีอะไรที่จะทดแทนหรือดีกว่าการวิเคราะห์หุ้นอย่างลึกซึ้งและพิจารณาลงทุนตามหลักการแบบ
VI
ที่ผมเห็นว่าดีและปลอดภัยที่สุดในระยะยาว
เพราะการลงทุนแบบใช้กฎเกณฑ์ที่ตายตัวนั้น
อาจจะเปลี่ยนไปเมื่อไรก็ได้ดังนั้นในวันที่เราใช้มันอาจจะ “ล้าสมัย”
ไปแล้วก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ อีกครั้ง “ความสำเร็จแบบง่าย
ๆ ในตลาดหุ้นนั้น มักจะทำลายตัวเอง”
****************************
เล่นหุ้นตามกระแส
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
ที่มา : http://portal.settrade.com/blog/nivate/2012/09/10/1171
ขอบคุณแหล่งข้อมูลครับ